ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะ กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย กรณีการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดพัทยา และภัยแล้งในภาคตะวันออก เพื่อวางแนวทางในการป้องกันในอนาคต
วันนี้ (3 พ.ค.) ที่สำนักงานชลประทานที่ 9 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายสฤษฏ์ อึ้งอภินันท์ รองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย คนที่ 3 และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติ พร้อมคณะได้เดินทางมาศึกษาดูงานและร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยมีสุรพล ใจยงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และ หัวหน้าชลประทานจังหวัดชลบุรี ระยอง ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก
นายสุรพล ใจยงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก โดยพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมทั้งสิ้น 121.005 ล้านลูกบาศ์กเมตร จากความจุรวมทั้งสิ้น 189.299 ล้านลูกบาศ์ก จากจำนวนอ่างเก็บน้ำ 8 อ่าง คิดเป็น 63.92 % ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวมีเพียงพอที่จะส่งให้ทุกหน่วยงานได้ตลอดฤดูแล้งนี้โดยไม่ขาดแคลน
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นคือที่จังหวัดจันทบุรี จนได้รับการร้องเรียน และคณะ กมธ.ต้องลงมาในพื้นที่ คือ ที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ซึ่งจะมีการก่อสร้างอ่างกักเก็บน้ำ เพื่อเก็บไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค แต่ติดปัญหาในเรื่องที่ดิน และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ล่าสุดทราบว่าพื้นที่นั้น อยู่ในเขตความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ มีเนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ หากได้รับอนุมัติก็สามารถดำเนินการได้ทันที
นายสุรพลกล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ต่างๆในภาคตะวันออก ทางกรมชลประทานมีแผนขยายแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นในอนาคตระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า โดยหากไม่มีปัญหาเรื่องการคัดค้าน ก็ดำเนินการได้ เพราะงบประมาณที่จัดสรรไว้ก็พร้อมก่อสร้างได้ทันที แต่ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกยังไม่มีปัญหาแต่อย่างไร
ด้าน นายสฤษฏ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ลงมาในพื้นที่นั้นเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำที่เกวียนหัก แต่ติดปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งขณะนี้ทางคณะกมธ. ทราบปัญหาแล้ว โดยพร้อมจะไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนความมาเป็นเวลานาน
นอกจากนั้นยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเมืองพัทยา กรณีที่น้ำทะเลกัดเซาะชายหาดพัทยาเป็นระยะทางยาวและลึกเข้าไปในแผ่นดิน สร้างความเสียหายต่อเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศและต่างประเทศ และหากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้จะทำให้แผ่นดินสูญหายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารเมืองพัทยาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็มีแผนงานที่จะสร้างหาดทรายเทียมขึ้นมา โดยใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท แต่ก็ยังติดปัญหาและยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะ กมธ.ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบไปมากกว่านี้
นายสฤษฏ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางคณะ กมธ.มีแผนงานจะลงเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังมีงานด้านอื่นที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ขณะนี้จะต้องรีบเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภา ซึ่งอาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะต้องล่าช้ากว่านี้