xs
xsm
sm
md
lg

จีนจี้ไทยเร่งหนุนค้าผ่าน“คุน-มั่ง กงลู่”/NTHCนำหัตถกรรมเหนือลุยตลาดจีนแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อธิบดีกรมพาณิชย์หยุนหนัน นำทีมธุรกิจจีนตลุยเจรจาการค้าผู้ประกอบการไทย จี้ร่วมหนุนการค้าคุน-มั่ง กงลู่ ขณะที่กลุ่มออแกไนซ์ใหญ่ปักปิ่ง จดปากกาทำ MOU นำหัตถกรรมเหนือเข้าตลาด E-Commerce จีนร่วมกับ NTSC แล้ว ขณะที่กลุ่ม จว.เหนือบน 1 เร่งทำแผนแม่บทลดต้นทุนLogistic ใน GMS

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า Mr.Xiong Qinghua อธิบดีกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน สป.จีน ได้นำคณะผู้ประกอบการด้านเหมืองแร่ ด้านการเกษตร ด้านลอจิสติกส์ และด้านอื่นๆ มากกว่า 50 บริษัทเดินทางด้วยขบวนรถยนต์จากนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน สป.จีน มาตามเส้นทางคุน-มั่ง กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) สำรวจลู่ทางการค้า การลงทุน พร้อมกับได้ประชุมเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและโลจิสติกส์ไทย(ภาคเหนือ)-จีน(หยุนหนัน) ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่ เมื่อ 24 เม.ย.54 โดยฝ่ายไทยมีนายนายวรการ ยศยิ่ง รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ นำคณะนักธุรกิจเข้าร่วมหารือ

ตัวแทนฝ่ายจีน ได้พยายามเร่งรัดให้มีการพัฒนาการค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมานานกว่า 35 ปี นอกจากนี้หยุนหนัน กับไทย อยู่ห่างกันเพียง 200 กว่ากม. ปี 2010 ไทยกับหยุนหนัน มีการค้าเกิดขึ้นสูงถึง 4,210 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 65.9% สินค้าส่งออกถึง 331 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 63.3% นำเข้า 90.40 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 75.9%

ขณะที่ 3 เดือนแรกของปีนี้ (2011) มีการค้าเกิดขึ้นแล้ว 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ซึ่งนับเป็นการเจริญเติบโตอยู่ในลำดับที่ 2 ที่อยู่ในกลุ่มคู่ค้า 10 กลุ่มใหญ่ ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทางความร่วมมือการค้ามากขึ้นตามลำดับ

เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางการค้าระหว่างหยุนหนัน-ไทยเท่านั้น เนื่องจาก ปี 2010 ด่านชายแดนบ่อหาน มีปริมาณนำเข้าและส่งออก 570 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการค้าระหว่างหยุนหนัน-ไทย 59.3% ทำให้กลายเป็นเส้นทางการขนส่งทางบกที่สำคัญระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยไปแล้ว แต่ปริมาณการค้าดังกล่าว ยังคิดเป็นไม่ถึง 1%ของการค้าระหว่างไทย-จีนโดยรวม ซึ่งแสดงว่ายังมีช่องทางการพัฒนาได้อีกมาก

พร้อมกันนั้น ตัวแทนรัฐ-เอกชนจีน ได้เสนอให้ฝ่ายไทยร่วมดำเนินการเพื่อพัฒนาการค้าร่วมกัน คือ

1.ให้มีการลงนามส่งเสริมคุ้มครองการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าข้ามแดนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และปรับแก้ไขข้อบังคับ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานระบบการขนส่งสินค้าระหว่างกัน

2.เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมพิเศษ จึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินงานภายใต้โครงการอุตสาหกรรมการเกษตร ทรัพยากรแร่ธาตุ ส่งเสริมกิจการการค้าพืชผักเพื่อแลกเปลี่ยนกับน้ำมัน ดอกไม้สด แลกเปลี่ยนกับผลไม้ ผลไม้เมืองหนาวแลกเปลี่ยนกับผลไม้เมืองร้อน

3.ผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการอำนวยความสะดวก โดยเน้นการส่งเสริมด้านการเจราจาการค้า และศุลกากรเป็นหลัก เพื่อพัฒนากลไกในการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า

4.ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการจัดนิทรรศการ ยูนนานจะจัดกลุ่มคณะเข้าร่วมกับนิทรรศการทางการค้าขายที่ประเทศไทยจัดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าขาย

วันเดียวกันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดเชื่อมโยง GMS ประจำปีงบประมาณ 2554 มูลค่า 20 ล้านบาท เพื่อรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีกรอบอาเซียน (AEC) ภายในปี 2558

นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบ Logistics กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) ดำเนินโครงการ เพื่อให้กลุ่มจังหวัดฯ เกิดการปรับตัวภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนภายในปี 2558 และการขยายตัวทางการค้าในในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ GMS ได้ และให้ธุรกิจ Logistics ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือมีการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการค้าระหว่างจังหวัด ซึ่งจะเป็นลักษณะแผนแม่บท เช่น จังหวัดเชียงใหม่จะมุ่งเน้นการผลักดันเรื่องรถไฟความเร็วสูง และตลาดด้านการส่งออก, จังหวัดลำปางเป็นเรื่องเซรามิก

ด้านการขนส่งพลังงาน และสินค้า, ลำพูน เป็นการส่งเสริมด้าน Logistics Park เชื่อมโยงด้านรถไฟ เครื่องบิน และรถยนต์ และแม่ฮ่องสอนเป็นด้านการท่องเที่ยวเป็นต้น อันจะทำให้กลุ่มจังหวัดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้าน Logistics ลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ลง

ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้มี 6 กิจกรรมย่อย คือ

1.จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบ Logistics กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2.จัดทำแผนแม่บทปฏิบัติการพัฒนาระบบ Logistics กลุ่มจังหวัดฯ

3.พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบ Logistics 4.ส่งเสริม/สนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารจัดการ Logistics ที่ทันสมัย 5.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ หรือสร้างเครือข่าย (Strategic Alliance)ระหว่างผู้ให้บริการของกลุ่มจังหวัด และในกลุ่ม GMS

และ(6) การจัดตั้งศูนย์รวบรวมและแสดงสินค้าของกลุ่มจังหวัด (Distribution and Exhibition Centers) และเตรียมความพร้อมของกลุ่มจังหวัดฯในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2555

"แผนแม่บทที่จัดทำขึ้นจะดำเนินการต่อในปี 2555 และยังมีแผนขยายผลต่อยอดไปถึงปี 2558 อันเป็นปีที่กรอบการค้าเสรีอาเซียนมีผลบังคับใช้"

ดร.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ร่วมดำเนินโครงการฯ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนโลจิสติกส์จากปัจจุบัน 18% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP โดยตั้งเป้าให้ลดลง 2-3%

ล่าสุดเมื่อ 25 เม.ย.54 ที่ผ่านมา Northern-Thai Handicraft Center (NTHC) โมเดลนำร่องในการนำสินค้าไทยบุกตลาดจีน ที่หอการค้าจังหวัดภาคเหนือตอนบนกลุ่มที่ 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) -พาณิชย์จังหวัดภาคเหนือตอนบน และศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ได้ลงนามร่วมกับนายหวาง ซิง ผู้จัดการบริษัท M.R.P. group LTD. /ผู้จัดการโครงการ www.thaigo.cn และ www.thaigo.hk ได้ลงร่วมในข้อตกลงร่วมมือในการเปิดตลาดสินค้าจากภาคเหนือของไทยเข้าสู่ตลาด E-Commerce สป.จีน โดยเริ่มจากสินค้าหัตถกรรมจากบ้านถวายเป็นสินค้านำร่อง ก่อนที่จะขยายไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ต่อไป

หวาง ซิง บอกว่า กลุ่ม MRP เป็นกลุ่มธุรกิจออแกไนซ์ในปักกิ่ง ที่เปิดดำเนินการมาแล้ว 12 ปี มีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ในตลาดจีนมาแล้ว นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า สินค้าหัตถกรรมไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จะสามารถทำตลาดและสร้างแบรนด์ในตลาดจีนได้ไม่ยาก โดยเขาเชื่อว่าเว็บไทยโก จะมีคนเข้าชมไม่น้อยกว่า 200-300 ล้านครั้งต่อปีแน่นอน

นายสรภพ เชื้อดำรง รอง ปธ.หอการค้าเชียงใหม่ เพิ่มเติมว่า NTHC ได้เริ่มเปิดศูนย์ประสานงาน-จำหน่ายสินค้าหัตถรรมภาคเหนือขึ้นแล้วที่เมืองเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา และนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ซึ่งทั้ง 2 ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านเว็บ thaigo พร้อมกับรับชำระเป็นเงินหยวนแทนผู้ผลิตไทย ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น