xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง ก.อุตฯ และ กนอ.ให้เพิกถอนใบอนุญาต รง.ไบเออร์และโกลว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เข้ายื่นเอกสารการปล่อยมลพิษของโกลว์และไบเออร์ต่อศาลปกครองสูงสุด
สมาคมฯต่อต้านโลกร้อนเอาจริง รุกฆาตโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังเกิดกรณีก๊าซพิษรั่วไหลจนทำให้ชาวบ้านล้มป่วยกันนับ 100 ราย จี้ กท.อุตสาหกรรม และ กนอ.เพิกถอนใบอนุญาตภายใน 90 วัน เร่งให้เรียกค่าสินไหมให้ชาวบ้าน และใช้มาตรา 97 เรียกค่าเสียหายต่อการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าตามที่เกิดเหตุการณ์เกิดเหตุกลิ่นสารเคมีหรือสารพิษฟีนอล ฟุ้งกระจายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ของคืนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2554 จนเป็นเหตุให้คนงาน และชาวบ้านใกล้เคียงได้รับผลกระทบจนต้องหามส่งโรงพยาบาลกันนับ 100 รายโดยต้นเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมการดำเนินงานที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการของโครงการของบริษัท โกลว์ จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ถนนไอ 5 และบริษัท ไบเออร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อยู่เลขที่ 4-4/1 ถนนไอ 8 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมผ่านสื่อสารมวลชนโดยทั่วไปแล้วนั้น

กรณีดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ทำคำร้องถึงศาลปกครองกลาง เพราะเกี่ยวพันกับการฟ้องร้องในคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 และคดีที่ 422/2553 ตามลำดับ เนื่องจากทั้ง 2 โรงงานอยู่ในรายชื่อแนบท้ายที่สมาคมฯฟ้องคดีอยู่ในศาล เพื่อรายงานรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ศาลทราบถึงการละเมิดกฎหมาย และการละเมิดอำนาจศาล

ต่อมา วันที่ 6 เมษายน 54 สมาคมฯยังได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการที่ละเมิดกฎหมายและชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในโครงการและพื้นที่ดังกล่าว อันเนื่องมาจากมาตรการการติดตาม ตรวจสอบที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอุตสาหกรรม และเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต มิได้ถูกนำมาบังคับใช้ หรือติดตาม ตรวจสอบอย่างรัดกุม ทำให้ผู้ประกอบการย่ามใจ และหย่อนยานการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายให้เกิดขึ้นกับคนงาน และประชาชนอยู่เนือง ๆ

เหตุดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอแล้วที่ กท.อุตฯ และ กนอ. ฐานะหน่วยงานสูงสุดทางปกครองและหรือผู้กำกับดูแลโรงงานตามกฎหมาย ต้องเร่งใช้อำนาจที่เด็ดขาดในการเพิกถอนใบอนุญาตโครงการทั้ง 2 โรงงานดังกล่าวของทั้ง 2 บริษัท เพราะถือว่ากระทำผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง

และขอให้สั่งการให้ทำการตรวจสอบว่ามีคนงานและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และที่ไม่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีจำนวนข้อเท็จจริงเป็นเท่าใด

พร้อมกับสั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสูงสุด พร้อมค่าเสียหายทางจิตใจหรือค่าปลอบขวัญบุคคลเหล่านั้น รวมทั้งต้องเป็นตัวแทนของสาธารณะในการเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ที่ต้องเสียหายไปตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ด้วย ทั้งนี้สมาคมฯ ได้แจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานเร่งตรวจสอบและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

"หากไม่ดำเนินการ และละเว้นเพิกเฉย มัวลูบหน้าปะจมูกกันอยู่ สมาคมฯ ต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นอีกคดีแน่นอน" นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น