xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสะพานข้ามโขงนครพนม-คำม่วน 11 พ.ย. - “โสภณ” ดันงบ 100 ล้านศึกษารถไฟเร็วสูงบัวใหญ่-นครพนม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโสภณ ชารัมย์ รมต.กระทรวงคมนาคมไทย และ ท่านสมมาด พลเสนา รมต.กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้เป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างฝั่งไทยและฝั่งลาวเข้าด้วยกันตามประเพณีปฏิบัติก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พ.ย. 2554
นครพนม-รมต.ก.คมนาคมไทย-ลาว ร่วมพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานข้ามโขง 3 ระหว่างนครพนม-แขวงคำม่วน สปป.ลาว กลางลำน้ำโขง สปป.ลาวจัดสรรพื้นที่หัวสะพาน 60 เฮกตาร์ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมชูถนนหมายเลข 12 เชื่อมเวียตนาม-จีน ด้าน “โสภณ” ดันงบกว่า 100 ล้านศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงสาย “บัวใหญ่-นครพนม” รับความเจริญหลังสะพานฯ เปิดใช้ ประเดิมเปิดประชาพิจารณ์ปลายเดือนเม.ย.นี้

วันนี้ (7 เม.ย.) เวลา 09.30 น. ที่บริเวณกลางสะพานข้ามโขงนครพนม-แขวงคำม่วน สปป.ลาวนายโสภณ ชารัมย์ รมต.กระทรวงคมนาคมไทย และท่านสมมาด พลเสนา รมต.กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้เป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานข้ามโขงระหว่างฝั่งไทยและฝั่งลาวเข้าด้วยกันตามประเพณีปฏิบัติก่อนที่จะมีการเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พ.ย. 2554

ทั้งนี้ พิธีเชื่อมสะพานในวันนี้มีข้าราชการระดับสูงของนครพนม และแขวงคำม่วน มาร่วมพิธี คือ นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉันมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และท่าน คำใบ ดำลัด เจ้าแขวงคำม่วน สปป.ลาว ตลอดจนภาคเอกชนทั้งสองประเทศ

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 นครพนม-แขวงคำม่วน จุดฝั่งไทยอยู่ในเขตบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง ห่างตัวเมืองนครพนมราว 5 กม.ริมถนนหลวงสายนครพนมอำเภอท่าอุเทน จุดฝั่งลาวอยู่ที่บ้านเวินเมืองท่าแขกแขวงคำม่วน สปป.ลาว ห่างตัวเมืองท่าแขก 5 กม. ซึ่งสมเด็จพระเทพสยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เมื่อ 6 มี.ค.2552 ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทยมูลค่า 1,761 ล้านบาท

ณ วันนี้การก่อสร้างคืบหน้า 90 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่สร้างอาคาร ส่วนตัวสะพานขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 9.50 เมตร ได้เทคอนกรีตจอดเชื่อมข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย-ลาว ยาว 1 ก.ม. เป็นสะพานที่จะใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ ลาว เวียดนาม จีน

นายโสภณ ชารัมย์ รมต.กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังสะพานข้ามโขงแห่งนี้เสร็จและเปิดใช้จะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจการค้าเชื่อมระหว่างภาคอีสาน-ลาว-เวียดนาม-จีน และจะเป็นเส้นทางบกเชื่อมกันได้ทั้ง 3 ประเทศโดยไม่ผ่านทะเล ปัจจุบันจีนและเวียดนามได้มีแผนการสร้างทางรถไฟตัดเข้ามาลาวเพื่อเชื่อมกับไทยรับกับการเกิดขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำโขง ในขณะที่รัฐบาลไทยก็มีแผนเชื่อมเส้นทางคมนาคมกับกลับกลุ่มประเทศในอินโดจีนเช่นกัน

ส่วนโครงการหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงนครพนม-แขวงคำม่วน สปป.ลาว คือรถไฟความเร็วสูงสาย “บัวใหญ่-นครพนม” เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งตนได้อนุมัติงบประมาณประมาณ 130 ล้านในการศึกษาและออกแบบเป็นที่เรียบร้อย และในช่วงปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ตนก็จะเดินทางมานครพนมอีกครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาครัฐเอกชนด้านความต้องการรถไฟตลอดจนกระบวนการประชาพิจารณ์พื้นที่แต่ละจังหวัดที่ทางรถไฟตัดผ่าน

ส่วนโครงการทางรถไฟจะเริ่มสร้างปีใหนก็ขึ้นกับรัฐบาลไหนจะเห็นชอบ แต่ถ้าตนมีโอกาสมาอยู่ตรงจุดนี้อีกตนก็ต้องขับเคลื่อนต่อเพราะตนได้ตั้งแท่นโครงการนี้ไว้แล้ว

ด้าน ท่านคำใบ ดำลัด เจ้าแขวงคำม่วน สปป.ลาว เปิดเผยว่า ในภาพรวมภาครัฐเอกชนตลอดประชาชนในแขวงคำม่วนก็มีความดีใจที่สะพานข้ามโขงนี้เกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อการค้าเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายทั้งแขวงคำม่วนและนครพนม ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์รับสะพานข้ามโขง แขวงคำม่วนได้ตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจรอบหัวสะพานฝั่งลาวเป็นเนื้อที่ถึง 60 เฮกต้า ให้กลุ่มนักธุรกิจในประเทศและต่างชาติเข้ามาสัมปทานลงทุนในธุรกิจต่างๆ ซึ่งก็มีนักธุรกิจจากหลายประเทศให้ความสนใจ อาทิ เกาหลีฯลฯและตรงจุดนี้จะเป็นเขตจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีที่ใหญ่ที่สุด

ส่วนเส้นทางการค้าเส้นยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ถนนหมายเลข 12 ระหว่างแขวงคำม่วนไปเมืองยมราชผ่านด่านนาเผ้าระยะทาง 148 กม. และเข้าด่านจาหลอถึงจังหวัดกวางบิงประเทศเวียตนามรวมแล้วประมาณ 200 กม. ซึ่งเป็นจังหวัดติดทะเล เป็นเส้นทางการค้าที่รัฐบาลลาวได้พัฒนาก่อสร้างปรับปรุงก่อนที่สะพานข้ามโขงแห่งนี้จะเกิดขึ้นมานับ 10 ปีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น