xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลอกคราบ 7 รอยเลื่อนไทย ภาคเหนือสุดอันตราย อาคารสูงกทม.สุดเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหตุแผ่นดินไหวที่อุบัติขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนนับหมื่น และสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทรัพย์สินและอาคารบ้านเรือน ด้วยแรงเขย่าของมหันตภัยที่ความรุนแรงถึง 9.0 ริกเตอร์ ตามด้วยคลื่นสึนามิที่มีความสูงถึง 10 เมตร ทำให้คนไทยซึ่งเคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 อดหวาดวิตกไม่ได้ว่ามหันตภัยจากธรณีพิโรธอาจจะเกิดขึ้นกับไทยอีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเร่งสำรวจจุดเสี่ยงและมองหาวิธีที่จะป้องกันหรือลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย

ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นครั้งนี้นั้นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวหลายท่านต่างยืนยันตรงกันว่าหาใช่สัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงวันสิ้นโลกตามคำทำนายทายทักของนักพยากรณ์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามวงรอบปกติเท่านั้น นอกจากนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในอัตราที่ถี่ขึ้นอย่างที่คนส่วนใหญ่รู้สึก แต่ที่มีข่าวความสูญเสียจากแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเป็นเพราะอัตราการขยายตัวของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น การกระจายตัวของเมืองใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น ทำให้ประชาชนเข้าใกล้จุดเสี่ยงที่เกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น

ไขปริศนา 13+1 รอยเลื่อน
ทรงอิทธิพลต่อไทย

สำหรับสาเหตุของแผ่นดินไหวในพื้นที่ต่างๆ นั้นเกิดจากเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีถึง 15 แผ่น ทั้งในลักษณะของการงอก การมุด การเกย โดยแนวของแผ่นไหวจะเกิดบนรอยเลื่อนต่างๆ สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย โดยจะเกิดบนรอยเลื่อนต่างๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนประมาณ 13 รอย ประกอบด้วย 1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุม จ.เชียงรายและเชียงใหม่ 2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุม จ.แม่ฮ่องสอนและตาก 3.รอยเลื่อนเมย ครอบคลุม จ.ตากและกำแพงเพชร 4.รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม จ.เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงราย 5.รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุม จ.ลำปางและแพร่ 6.รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงรายและพะเยา 7.รอยเลื่อนปัว ครอบคลุม จ.น่าน 8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุม จ.อุตรดิตถ์ 9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรี และราชบุรี 10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุม จ.กาญจนบุรีและอุทัยธานี 11.รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุม จ.หนองคายและนครพนม 12.รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนองและพังงา และ 13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่

แต่ทั้งนี้ รอยเลื่อนที่มีความเสียงที่จะเกิดแผ่นดินไหว มีเพียง “รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนแม่จัน” เท่านั้น นอกจากนั้น ยังมีรอยเลื่อยสะแกงซึ่งอยู่ในประเทศพม่า ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวจะมีอิทธิพลมาถึงไทยด้วย

ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในไทยว่า รอยเลื่อนในไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะหลับยาว คือนานๆ จะเคลื่อนตัวสักที โดยรอยเลื่อนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในไทยนั้นมีหลายรอยด้วยกัน มีอยู่ 3-4 แนว ซึ่งตามแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี มีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนที่จังหวัดน่าน รอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคตะวันตก แล้วก็มีแนวรอยเลื่อนสะแกงในพม่า ซึ่งอาจจะแรงถึง 8 ริกเตอร์ได้ เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ถึง 8 ริกเตอร์ เมื่อปี 1962 ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนเสียหาย และตายกันทั้งเมือง แต่ตอนนั้นยังไม่มีตึกสูง นอกจากนั้นยังมีแนวที่ทะลุเข้ามาไทยคือแนวศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี แต่ก็ไม่ส่งผลที่รุนแรงมากนัก

“เทียบให้ดูง่ายๆ อย่างรอยเลื่อนสะแกง หรือสกายในพม่าเนี่ยเป็นรอยเลื่อนใหญ่มากในภูมิภาค มันจะเคลื่อนตัวในอัตรา 20 มิลิเมตร ซึ่งรอยเลื่อนที่ทะลุเข้ามาในเมืองไทยมันแค่ 1-2 มิลิเมตรต่อปี เพราะฉะนั้นอัตราการเลื่อนตัวมันต่ำ แต่ศักยภาพในการสร้างแผ่นดินไหวสูงสุดใกล้เคียงกัน รอยเลื่อนสะแกงมีอัตราเคลื่อน20 มิลิเมตรต่อปี มันก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ขึ้นมาหลายลูก แล้วก็ 8 ริกเตอร์ตรงตอนเหนือ ทั้งหมด 4-5 ลูก ในช่วงเวลาประมาณ 90 ปี แต่ของไทยนี่ถ้า ขนาด7 ริกเตอร์อาจจะต้องคอยหลายร้อยปี หรือพันปีมาสักลูกหนึ่ง เพราะฉะนั้นประมาณคร่าวๆในภาคเหนือและตะวันตก ขนาด 7 ริกเตอร์น่าจะมาทุก 200-300 ปี”

“ความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวมันจะขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยเลื่อนด้วย เช่นแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบก่อนหน้านี้เกิดจากรอยเลื่อนชื่อโนฮิมาร็อกโก เป็นรอยเลื่อนประเภทหลับยาว คือนานๆจะเลื่อนที ซึ่งเป็นรอยเลื่อนประเภทเดียวกับที่มีในไทย ถ้าเทียบในไทยรอยเลื่อนพวกนี้ก็คือรอยเลื่อนในภาคเหนือทั้งหมด แต่ในภาคใต้ยิ่งหลับยาวกว่านี้อีก หลับยาวกว่าภาคเหนือประมาณ 10 เท่า เพราะฉะนั้นมันต้องรอเป็นหมื่นปีถึงจะมาสักครั้งหนึ่ง มันเลยไม่ค่อยมีความเสี่ยงที่จะเกิด ส่วนในภาคอีสานมันไม่มีพวกนี้เลย เลยไม่ต้องห่วงอะไรมาก ถามว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในไทย จุดไหนน่ากลัวที่สุดก็ต้องบอกว่าจุดเดิมที่เคยเกิด แนวนี้เป็นแนวมุดตัวของเปลือกโลก แนวที่แผ่นฝั่งนี้มุดใต้อีกแผ่น แนวนี้เป็นแนวเดิมที่เคยระเบิดมาแล้ว แต่มันระเบิดช่วงล่าง แล้วช่วงบนนี่ก็อาจจะยังเหลือพลังงานอยู่ ยิ่งมันเล็อกติดกันนานๆเนี่ยพลังงานยิ่งสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อหินถูกอัดและพร้อมที่จะไถล”ดร.เป็นหนึ่งให้ข้อมูล

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวนั้นมิใช่เพียงความแรงของการสั่นสะเทือนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่ปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหว ลักษณะอาคารบ้านเรือน ลักษณะของพื้นที่ ณ จุดที่แรงสั่นสะเทือนส่งมาถึง โดยอัตราความถี่ในการเกิดแผ่นดินไหวทั้งแบบความถี่สูงและความถี่ต่ำจะส่งผลต่อบ้านเรือนในลักษณะต่างๆไม่เหมือนกัน เช่น แผ่นดินไหวที่มีความถี่สูงจะส่งผลต่ออาคารเตี้ยๆ มากกว่าอาคารสูง ขณะที่แผ่นดินไหวที่มีความถี่ต่ำจะส่งผลต่ออาคารสูงมากกว่าอาคารเตี้ย

กล่าวคือ โดยธรรมชาติแล้วโลกทั้งโลกมีแผ่นเปลือกหลายแผ่น อย่างญี่ปุ่นอยู่ตรงแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกแปซิฟิกพอดี คือแผ่นดินไหวขนาดยักษ์จะเกิดตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือก จะไม่ใช่บริเวณที่อยู่ภายในเปลือก โดยญี่ปุ่นอยู่ในแนวที่เรียกว่าริงออฟไฟร์ซึ่งเป็นแนวที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ภายในแผ่นเปลือกที่เรียกว่าแผ่นยูเรเชีย ผลกระทบก็เลยน้อย

และสาเหตุสำคัญที่แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความเสียหายเยอะก็เนื่องจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นนั้นอยู่ใกล้กับที่พักอาศัยของผู้คน ประกอบกับอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่มีลักษณะเป็นอาคารสูงซึ่งมีเสี่ยงต่อความเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าอาคารบ้านเรือนในสมัยก่อนที่มีขนาดเล็ก

“จากข้อมูลประเทศไทยมีแผ่นดินไหวที่เป็นอันตรายอยู่จริง ขนาดใหญ่กว่าที่เกิดที่ไครสท์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ก็มีมาแล้ว ขนาดใกล้เคียง 5.9 ริกเตอร์ก็เคยมีที่เมืองกาญจน์ ใกล้กับเชียงราย ห่างไป 50 กม.ก็มี แต่มันไม่ได้เกิดในเขตที่มีบ้านเรือน เลยไม่ส่งผลกระทบ แต่ถ้าเราคำนวณความถี่ในการเกิดเนี่ยเราอาจจะเกิดน้อยกว่าพม่า เกิดน้อยกว่าญี่ปุ่น เกิดน้อยกว่าแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เขาเกิดบ่อยกว่าเราเยอะ ต่อปีนี่อาจจะเกิดมากกว่าไทย 3 เท่า 5 เท่า หรือ 10 เท่า แต่ประเด็นคือแผ่นดินไหวในไทยอาจจะสร้างความเสียหายได้ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม ถ้าเราไม่ได้ออกแบบโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแผ่นดินไหวเลย”

“เวลาแผ่นดินไหวระเบิดขึ้นมาแต่ละที มันจะส่งคลื่นสั่นสะเทือน ทั้งความถี่สูง ความถี่กลางๆ และความถี่ต่ำ ความถี่สูงมันจะส่งผลต่ออาคารเตี้ยๆ ส่วนความถี่ต่ำจะส่งผลต่ออาคารสูงๆ เพราะอาคารสูงมันจะโยกช้าๆ ทีนี้ความถี่สูงมันจะหายไปอย่างรวดเร็ว มันไปได้ไม่ไกล เพราะฉะนั้นพวกอาคารเล็กๆ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดใกล้ๆ ส่วนแผ่นดินไหวไกลๆจะมีผลน้อย แต่ความถี่ต่ำมันกระจายไปได้ไกล เป็น 100 กิโลเมตร 1,000 กิโลเมตร สำหรับในกรณีพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นดินอ่อน ซึ่งมันขยายความถี่ต่ำด้วย คือความจริงความถี่ต่ำมันมาถึงเรามันจะหมดแรงแล้ว แต่พื้นดินที่อ่อนเนี่ยมันขยายความแรงของคลื่นขึ้นมาใหม่ และมันก็มากระตุ้นให้อาคารสูงที่โยกอย่างช้าๆ ถูกขยับ สำหรับแผ่นดินไหวครั้งไหนจะเกิดความถี่สูง ความถี่ต่ำนั้นที่ผ่านมาเราทำโมเดลได้ เรารู้ว่ารอยเลื่อนสะแกงสถิติความเลวร้ายมันเป็นยังไง แต่ไอ้ตัวใกล้สุดเนี่ยเราไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เพราะมันเป็นรอยเลื่อนแบบนอนยาว แต่ก็เริ่มมีข้อมูลเพิ่มเติมบ้างแล้ว เราพอจะรู้ว่าแรงสั่นสะเทือนที่กรุงเทพฯ จะมีรูปร่างอย่างไร แรงสั่นจะประมาณเท่าไร พวกนี้เราใส่ข้อมูลไปในมาตรฐานใหม่หมดแล้ว แต่ในส่วนของประชาชนก็ไม่อยากให้ประมาท” ดร.เป็นหนึ่งอธิบาย

วิธีลดผลกระทบที่จะมีต่ออาคารสูง

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 โดยมีเป้าหมายที่จะยกมาตรฐานของอาคารที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้มีการตรวจสอบและควบคุมการก่อสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวแต่อย่างใด ในขณะที่อาคารเก่าก็ไม่ได้ปรับปรุงเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน
“ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้นเรื่องการออกแบบอาคารใหม่เพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว ถ้าอาคารที่จะสร้างใหม่มีมาตรฐาน มีการออกแบบที่ดีแล้ว จากนั้นเราก็ไปเน้นการแก้ปัญหาอาคารเก่า ซึ่งอาคารใหม่ที่เราเน้นก็จะอยู่ในโซนภาคเหนือซึ่งเป็นบริเวณที่มีแผ่นดินไหวในพื้นที่ ทั้งอาคารเตี้ยและอาคารสูง ส่วนกรุงเทพฯเราจะเน้นจุดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว คือกลุ่มอาคารสูง แต่ปัจจุบันอาคารที่จะเกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นโจทย์ที่ง่ายที่สุด เรายังแก้ไม่ได้เลย เพราะการบังคับใช้กฎหมายเราอ่อนแอมาก คือมันมีกฎกระทรวงในเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่มีการบังคับใช้ นอกจากนั้นกฎหมายก็ไม่ได้ครอบคลุมครบ จะเน้นอาคารเฉพาะที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป ส่วนอาคารที่ต่ำกว่า 15 เมตรก็ควบคุมเฉพาะอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ แต่ปัญหาคือไม่มีการตรวจสอบว่าการก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ นี่คือปัญหา”

“โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่ากฎหมายจะมีความหมายมากนัก แต่คิดว่าความเข้าใจสำคัญกว่า ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมากรมโยธาฯออกกฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศ ถ้าทำตามมาตรฐานใหม่ก็โอเค แต่มันมีกระบวนการหลีกเลี่ยงเยอะแยะ แล้วกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเราก็อ่อน เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือทำให้คนกังวลไว้หน่อย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หน่อย เจ้าของอาคารก็จะกังวล สถาปนิกและวิศวกรก็ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ และปรับตัวให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน” ดร.เป็นหนึ่งแจกแจงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงไว้อย่างสนใจ

อย่างไรก็ตาม นอกจากอาคารที่สร้างใหม่ซึ่งสามารถดำเนินการออกแบบก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวแล้ว สำหรับอาคารเก่าก็สามารถแก้ไขเพื่อลดผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวได้เช่นกัน โดยนำแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นแผ่นผ้าเสริมเส้นใยคาร์บอน (วัสดุชนิดเดียวกับที่ทำไม้เทนนิส หรือไม้แบตมินตัน ราคาแพง) มาพันเสาอาคารชั้นล่าง ซึ่งแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ดังกล่าวจะช่วยดูดซับพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้

หรืออีกวิธีคือใส่ตัวค้ำยันพิเศษที่ไม่โก่งเดาะและทำจากเหล็กเข้าไป ซึ่งเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวแล้วตัวอาคารโยกไปมา เหล็กค้ำยันตัวนี้จะยืดและดูดซับพลังงาน ทำให้อาคารไม่โยกมากเกินไป และไม่ล้มครืนลงมา โดยการเสริมเหล็กค้ำยัน หรือพันแผ่นคาร์บอนนั้น จะเสริมตรงตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้อยู่ที่ 5% หรือมากสุด ไม่ถึง 10% ของตัวอาคาร ทั้งนี้แต่ละวิธีจะเหมาะกับอาคารใดนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ มีการทำจริงหรือไม่
ดร.เป็นหนึ่งขณะกำลังอธิบายเรื่องแผ่นเปลือกโลกต้นเหตุของแผ่นดินไหว
กำลังโหลดความคิดเห็น