พะเยา - เมืองกว๊านฯต้องระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำแผนปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ระยะยาว (2555-2559) หลังต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเกินค่ามาตรฐานทุกปี จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนปีละไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ด้านกรมควบคุมมลพิษ เผยปีนี้พะเยา มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเกินค่ามาตรฐานแล้ว 3 วัน
วันนี้(4 เม.ย.54) ที่ห้องประชุมชั้น4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน จ.พะเยา ปี 2554 - 2559 เพื่อเร่งจัดทำแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่แบบระยะยาว ซึ่งมี นายวรพจน์ ผ่องสมัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด , ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น แขวงการทางพะเยา ,ตำรวจ ,ทหาร , ท้องถิ่นจังหวัด และองค์กรปกครองส่าวนท้องถิ่นใน จ.พะเยา เข้าร่วม
นายวรพจน์ เปิดเผยว่า จากการติดตามคุณภาพอากาศหรือปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ในบรรยากาศของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ จ.พะเยา พบว่าในห้วงเดือน มกราคม - เมษายน ของปี 2552 มีปริมาณฝุ่นละออกเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) รวม 18 วัน ปี 2553 เกินค่ามาตรฐาน 33 วัน และล่าสุดปีนี้(54) มีค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานแล้ว 3 วัน ลักษณะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา รายงานว่า สภาพปัญหาหมอกควันในช่วงที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.พะเยา ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จ.พะเยา ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หืด ภูมิแพ้ โดยพบว่ามีประชาชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ในปี 2551 จำนวน 405,746 คน ปี 2552 จำนวน 335,416 คน และ ปี 2553 จำนวน 325,271 คน ขณะที่สถิติการเกิดไฟป่าตั้งแต่เดือน ธันวาคม - พฤษภาคม ของปี 2551 - 2553 เกิดขึ้นจำนวน 134 ,139 และ117 ครั้งตามลำดับ
ด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จำเป็นต้องระดมทุกหน่วยที่เกี่ยวต้องระดับจังหวัดในการแก้ไขปัญหา รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งมาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการลดการเผา การรณรงไถกลบตอซังข้าวที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้พะเยาจะมีจุด HOTSPOTS (จุดความร้อน) ในปีนี้ น้อยกว่าจังหวัดอื่นใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือมีเพียง 114 จุด ขณะที่ จ.น่าน มีมากสุดอยู่ที่ 283 จุด ก็จำเป็นต้องมีการวางแผนป้องกัน และแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะถ้าปัญหาอาจไม่ได้ถูกแก้ไขแบบต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาวได้