xs
xsm
sm
md
lg

สวนยางพะเยาเพิ่มไม่หยุด-เกษตรกรทยอยตัดข้าวโพด-ลำไยทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ชาวบ้านเมืองกว๊านฯเดินหน้าทำสวนยางพาราเพิ่มไม่หยุด ทยอยเปลี่ยนไร่ข้าวโพด-ขิง-สวนลำไย ลิ้นจี่ เป็นสวนยางเพิ่มขึ้นทุกขณะ ขณะที่นายทุนปักษ์ใต้ยังพยายามกว้านซื้อที่ไม่หยุด แต่หลายรายต้องผิดหวัง

นายนเรศ ฝีปากเพราะ นักวิชาการเกษตร หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา กล่าวว่า ตั้งแต่จังหวัดพะเยามีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบันนี้ พบว่ายางพาราของจังหวัดพะเยา คือผลผลิตหนึ่งที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของกลุ่มพ่อค้ายางพารา

สังเกตได้ว่ามีกลุ่มพ่อค้าจากภาคใต้ขึ้นมาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราในพะเยามากขึ้น เนื่องจากยางพาราพะเยามีคุณภาพ ทำให้ราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ที่สำคัญยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นตัวช่วยแก้ปัญหาพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าต่ำให้มีราคาสูงได้ผลอย่างน่าพอใจ

นายนเรศ กล่าวต่อว่า ย้อนหลังไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานมีการสำรวจตัวเลขพื้นที่พืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรพะเยาปลูกและเป็นปัญหามาตลอด เช่น ข้าวโพด ขิง ลำไย และลิ้นจี่ พืชเหล่านี้ทุกปีเกษตรกรจะประสบปัญหาราคาตกต่ำและประท้วงเรียกร้องให้ภาครัฐมาช่วยเหลือทุกครั้ง แต่มาปีนี้ข้าวโพดราคาดี กก.ละ 8-9 บาท ขิง กก.ละ 50-60 บาท ลำไยปีนี้กำลังจะให้ผลผลิตคาดว่าจะสูงประมาณ กก.ละ 50 บาท

ส่วนลิ้นจี่ก็มีแนวโน้มเดียวกัน คือไม่มีราคาตกต่ำเลย เนื่องจากหลังจากที่มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา พบว่าพื้นที่พืชตัวอื่นลดลง เช่น ข้าวโพดมีพื้นที่ปลูกประมาณ 320,000 ไร่ ลดลงประมาณ 64,000 ไร่ ขิง พื้นที่ปลูกประมาณ 16,000 ไร่ ลดลงประมาณ 8,000 ไร่ ลำไยพื้นที่ปลูกประมาณ 64,000 ไร่ ลดลงประมาณ 16,000 ไร่ และลิ้นจี่ปลูกประมาณ 22,000 ไร่ ลดลงประมาณ 3,000 ไร่

นักวิชาการเกษตรฯ กล่าวอีกว่า ซึ่งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าต่ำที่หายไป ถูกทดแทนด้วยพื้นที่สวนยางพาราประมาณร้อยละ 10-50 ขณะเดียวกันเพื่อพืชแต่ละชนิดมีพื้นที่ปลูกลดลง ทำให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกษตรกรมีรายได้หลากหลายทางเพราะปลูกพืชหลายตัว เมื่อพืชแต่ละตัวมีราคาดีเกษตรกรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีตามไปด้วย

“ส่วนเรื่องความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบเรื่องการผลิตอาหารหรือไม่นั้น ผมเชื่อและมั่นใจว่า ไม่มีเกษตรกรที่ปลูกยางพารา 100% เพราะยังกันพื้นที่ไว้ปลูกข้าวและพืชอื่นสำหรับใช้เป็นอาหาร ดังนั้นยางพาราของพะเยาจะไม่กระทบต่อแหล่งการผลิตอาหาร โดยเฉพาะแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อระดับประเทศ” นายนเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่สูงขึ้นต่อเนื่องจนเป็นรายได้หลักของเกษตรกรชาวพะเยาและหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ทำให้พื้นที่ดินทำกินในภาคเหนือกลายเป็นทำเลทองของนายทุนสวนยางพาราจากภาคใต้ ที่ขึ้นมาหาซื้อดินเพื่อปลูกยางพารา และจัดทำโรงงานธุรกิจยางพาราครบวงจร แต่ขณะนี้พบว่า หลายรายไม่สามารถหาซื้อที่ได้ เนื่องจากเกษตรกรไม่ขาย เพราะต้องการเป็นเจ้าของสวนยางพาราโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น