เลย -สกย.เลย แจงชาวบ้านสถานการณ์ราคายางร่วงฮวบฮาบ ส่วนหนึ่งเพราะเกิดโศกนาฏกรรมที่ญี่ปุ่น ทำให้โรงงานหยุดซื้อขายโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ราคายางมีการปรับตัวสูงมาตลอด เพราะมีการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ทำราคาพุ่งปริ๊ดผู้ซื้อหลายประเทศชะลอการซื้อ โดยเฉพาะจีนออเดอร์ลดลงนับแต่ตรุษจีนที่ผ่านมา แนะชาวสวนยางอย่าหวังรวยจากการกรีดยางอย่างเดียวต้องปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นควบคู่ไปด้วย
นายวิโรจน์ จิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคายางพารามีความผันผวน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบปรับตัวลดลงถึงกิโลกรัมละ 28 บาท ขณะที่ยางแผ่นรมควัน ลดลงกิโลกรัมละ 24 บาท ทำให้มีคำถามจากเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมากว่าเกิดอะไรขึ้น
จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงขอลำดับสถานการณ์ราคายางและวิเคราะห์ตามมุมมอง และประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2554 ก่อนวันที่ 11 มีนาคม 2554 ราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งมีคนทำนายว่าราคายางจะสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งก็ใกล้เคียงความจริง
ทั้งนี้ เพราะราคายางได้ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 โดยที่ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 189.75 บาท/กก.และราคา F.O.B. 198.75 บาท/กก.หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ราคายางเริ่มปรับตัวลดลง และลดลงอย่างต่อเนื่องวันละ 3-4 บาท/กก.
จนกระทั่งวันที่ 10 มีนาคม ราคายางแผ่นดิบลดลงเหลือ 133.30 บาท/กก.ยางแผ่นรมควันเหลือ 142.59 บาท/กก.และราคา F.O.B.เหลือ 165.20 บาท/กก.ในช่วงระยะเวลา 18 วัน ราคายางแผ่นดิบได้ปรับตัวลดลง 50.30 บาท/กก.ยางแผ่นรมควันลดลง 47.15 บาท/กก. และราคา F.O.B. ลดลง 33.55 บาท/กก.
ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ราคายางกำลังปรับราคาสู่ความเป็นจริง กระทั่งวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม ได้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ หยุดกิจการ ไม่มีการซื้อขาย ทำให้ราคายางในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม ปรับตัวลดลงทันที ยางแผ่นดิบราคา 95 บาท/กก.ลดลง 24 บาท/กก.ยางแผ่นรมควัน ราคา 105 บาท/กก.ลดลง 24 บาท/กก.และราคา F.O.B.150.70 บาท/กก.ลดลง 11.50 บาท/กก.
ทั้งนี้ สาเหตุเพราะผู้ซื้อไม่มั่นใจตลาดยางของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่เกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น ราคายางก็ต้องลดลงอย่างแน่นอน แต่คงจะไม่ลดลงฮวบฮาบแบบนี้
ผอ.สกย.จ.เลย ได้กล่าวถึงปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายางลดลง โดยมองว่า มาจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ เนื่องจากราคายางมีการปรับตัวสูงมาตลอด เพราะมีการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ประกอบกับปริมาณยางที่ผลิตได้ในปี 2553 ลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติ ในขณะที่ความต้องการใช้ยังสูงเท่าเดิม เมื่อราคาปรับถึงขั้นสูงสุดที่ผู้บริโภคไม่สามารถสู้ราคาได้ จึงจำเป็นต้องชะลอการซื้อ โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีนชะลอการซื้อตั้งแต่เทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา ทำให้ราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสึนามิที่ญี่ปุ่น ในวันที่ 11 มีนาคม เป็นปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว โรงงานอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นต่างหยุดการผลิต ไม่มีการเปิดตลาดซื้อขาย ทำให้ตลาดชะงัก เกิดความไม่มั่นใจกับผู้ซื้อภายในประเทศ เป็นโอกาสที่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคยางได้หันมาตั้งหลักเรื่องราคากันใหม่ตามสภาพที่เป็นจริง เป็นการกระตุกราคาให้ผู้ที่กักตุนปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด
สถานการณ์เช่นนี้ จะเป็นอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และจะปรับตัวเข้าสู่ความเป็นจริง สังเกตได้จากวันที่ 15 มีนาคม ราคาซื้อขายยางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยที่ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 98 บาท/กก.ในขณะที่ราคา F.O.B.ลดลงเหลือ 135.70 บาท/กก.(ลดลง 15 บาท/กก.) แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในอีกไม่นาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและการบริหารจัดการตลาดในประเทศด้วย
สิ่งสำคัญที่อยากเตือนเกษตรกรชาวสวนยางคือ ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับพืชอื่นๆ ย่อมมีขึ้นมีลง ได้มีเกษตรกรหลายรายยอมลงทุนซื้อพันธุ์กล้ายางมาปลูกต้นละ 60-70 บาท ซึ่งนับว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้น จึงขอแนะนำว่าควรปลูกยางพาราควบคู่ไปกับพืชอื่นๆ โดยจัดสรรพื้นที่ออกเป็นแปลง ๆ การจัดสัดส่วนมากน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคน แต่อย่างน้อยที่สุดควรปลูกยางให้ได้ 1 แปลงกรีด หรือประมาณ 600 ต้น (8 ไร่) เป็นการกระจายความเสี่ยง แม้จะไม่ทำให้ร่ำรวยแต่ก็ทำให้ไม่เดือดร้อน