xs
xsm
sm
md
lg

ประดิษฐานรูปหล่อ-บรรจุอัฐิครูไพรวัลย์ ลูกเพชร อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพรวัลย์ ลูกเพชร
เพชรบุรี .....

ที่ลานวัฒนธรรม วัดดอนผิงแดด ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้มีพิธีประดิษฐานรูปหล่อและบรรจุอัฐิครูไพวัลย์ ลูกเพชร อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่มีผลงานเพลงและการงานด้านการแสดงมากมายในอดีต โดยรูปหล่อดังกล่าวเป็นรูปหล่อที่ทำขึ้นจากทองเหลืองรมดำมันปู มีความสูง 2.20 เมตร ใช้งบประมาณการสร้างจำนวน 150,000 บาท และฐานที่ใช้สำหรับวางรูปหล่ออีกจำนวน 770,000 บาท

โดยการประดิษฐานรูปหล่อและบรรจุอัฐิครูไพวัลย์ ลูกเพชรในครั้งนี้นับเป็นความปลื้มปิติให้กับชาวบ้านดอนผิงแดด และครอบครัวลูกเพชร ที่มีนางพรรณี ลูกเพชร ภรรยาคนสุดท้ายของไพรวัลย์ และนายกฤติวุฒิ ลูกเพชร บุตรชาย ที่ได้นำอัฐิของครูไพรวัลย์ มาบรรจุใต้ฐานรูปหล่อของไพรวัลย์ในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ถือเป็นการกลับบ้านเกิดของครูไพรวัลย์ อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาขณะที่มีชีวิตอยู่เมื่อครูไพรวัลย์กลับมาบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรีมักจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ชุมชน วัด และโรงเรียนในพื้นที่ตลอดมา

จากการสอบถามนายกฤติวุฒิ ลูกเพชร บุตรชายคนเดียวของครูไพวัลย์ เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นวันที่ตนและครอบครัวปัดีใจมากที่ท่านผู้ใหญ่หลาย ๆ ฝ่ายได้ร่วมกันทำรูปหล่อของคุณพ่อเพื่อนำกลับมายังบ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี โดยนำมาตั้งไว้ที่วัดดอนผิงแดด ซึ่งเป็นวัดและโรงเรียนที่คุณพ่อเคยเรียนและมีความผูกพันมาก่อน

ด้านนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการจัดสร้างรูปหล่อครูไพวัลย์เปิดเผยว่า หลังจากทำการบรรจุอัฐิและตั้งรูปหล่อครูไพวัลย์แล้วจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่อีกครั้งโดยวันงานจะมีเหล่าศิลปินมากมายมาร่วมงาน โดยจะนัดวันอีกครั้งเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าว

ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีชื่อและนามสกุลจริงคือ นายสมนึก นิลเขียว เกิดที่บ้านเลขที่ 166 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เมื่อ 14ธ.ค. 2484 เป็นบุตรนายสงวน และนางแจ่ม นิลเขียว มีพี่น้องท้องเดียวกัน 6 คน โดยเขาเป็นลูกคนที่ 2 เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดดอนผิงแดด และมาต่อที่โรงเรียนวัดต้นสนจนจบมัธยมฯ เข้าสู่วงการจากการที่พ่อแม่นำไปฝากคณะลิเกเมืองเพชร แต่ใจไม่รัก จึงไปสมัครวงดนตรีบางกอก ช่ะ ช่ะ ช่า ของครูสมพงษ์ วงศ์รักไทย ภายใต้การควบคุมของปรียา รุ่งเรือง , ชุติมา สุวรรณรัตน์ และสมพงศ์ วงนี้เป็นวงที่ตั้งขึ้นเพื่องานเฉพาะกิจ

สำหรับงานรอบปฐมทัศน์ภาพยนตร์ไทย หรืองานกาชาดใหญ่ๆที่มีผู้ติดต่อเข้ามา เมื่อมีงานที่ไหนสมนึกก็ติดตามไปด้วยตลอดจนกระทั่วไปเจอกับนักพากษ์หนัง ชื่อ ปราศรัย กีรติจินดา ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ชุติมาและสมพงษ์ จึงแต่งเพลงให้ 1 เพลงให้ร้องหน้าเวที คือเพลง "คนึงนอนนครสวรค์" เมื่อบางกอกชะชะช่ายุบวง สมพงศ์ก็ได้พาเขาไปฝากกับสุรพล สมบัติเจริญ และครูสุรพลได้ตั้งชื่อใหม่ให้เป็นไพรวัลย์ ลูกเพชร และให้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเพลงคำเตือนของพี่ ซึ่งเป็นผลงานของครูสุรพลเอง และเพลงดาวบ้านนาของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เมื่อราวปี 2506 - 2507 ซึ่งก็ทำให้เขาเป็นที่รูเจกของแฟนเพลง ก่อนจะมีผลงานออกมาอีกหลายเพลง เช่น แม่ผักบุ้งบ้านดอน ,เสียงจากไพรวัลย์ ,นางกลางใจ เป็นต้น

ระหว่างที่อยู่กับวงสุรพล ก็พบรักกับวิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ นักร้องนักเต้นชื่อดังของวงจำรัส วิภาตะวัต โดยตอนนั้นเธอกำลังโด่งดังจากเพลงฝากรักเรซอล ทั้งสองพบกันครั้งแรกที่สถานีวิทยุยานเกราะ และจากการติดต่อของสุรพล ทั้งสองจึงได้แต่งงานกันตอนไพรวัลย์อายุ 27 ก่อนที่วิภารัตย์จะย้ายมาอยู่ที่วงสุรพลด้วยต่อมาเขาหอบหิ้ววิภารัตน์ออกจากวงสุรพล สร้างความชอกช้ำให้กับสุรพลอย่างมาก ก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักร้องในวงรวมดาวกระจาย รุ่นเดียวกับ ชลธี ธารทอง, แดน บุรีรัมย์ ,ไวพจน์ เพชรสุพรรณ , ประยงค์ ชื่นเย็น ฯลฯ ที่นี่เขาเริ่มร้องเพลงคู่กับวิภารัตน์ จนเกิดบทเพลงโด่งดังมากมาย

เช่น มะนาวไม่มีน้ำ,กีฬารัก เป็นต้น ทำให้เขายิ่งโด่งดังมากขึ้นไปอีก ก่อนที่จะตัดสินออกมาตั้งวงดนตรีตัวเอง เดินสายรับงานตามต่างจังหวัด ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อมีการเปลี่ยนระบบฟิล์มจาก 16 มม. เป็น 35 มม. และมีการสร้างภาพยนตร์เพลงออกมาหลายเรื่อง ด้วยความหน้าตาดีของไพรวัลย์ จึงมีผู้สร้างมาทาบทามให้แสดงภาพยนตร์ จึงเป็นที่มาของฉายา "พระเอกลูกทุ่ง" ราวปี 2512-2513 ไพรวัลย์โด่งดังสุดขีด เมื่อรังษี ทัศนพยัคฆ์ ดึงไปร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ 'มนต์รักลูกทุ่ง' ที่มีดาราคู่ขวัญแห่งยุค มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ แสดงนำ
 
โดยเพลงนี้ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นผู้ประพันธ์เพลง เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทยขณะนั้นโดยได้ฉายที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมโรงเดียวนานถึง 6 เดือน และทำเงินรายได้กว่า 6 ล้านบาท หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไพรวัลย์คือนักร้องลูกทุ่งคนเดียวที่มีโอกาสแสดงภาพยนตร์บ่อยที่สุด และได้ร้องเพลงไตเติ้ลหนังมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานเพลงเปิดตัวหนังที่เขาได้ร้องไว้ เช่น เพลงชาติลำชี , มนต์รักลูกทุ่ง , มนต์รักแม่น้ำมูล , เพลงรักบ้านนา , ไอ้หนุ่มตังเกฯ

หลังยุคมนต์รักลูกทุ่ง เขาก็มีงานออกมาอีกมากมาย ส่วนใหญ่เป็นผลงานการประพันธ์ของครูไพบูลย์ , ครูสำเนียง ม่วงทอง และครูเพลงอีกหลายท่าน ระหว่างนี้ หลังจากที่ใช้ชีวิตร่วมกันมา 8 ปี เขาก็หย่าร้างกับวิภารัตน์ ทั้งๆที่มีทายาทด้วยกันแล้วถึง 2 คน สาเหตุก็เนื่องจากความไม่เข้าใจกัน เนื่องจากเป็นคนดังทั้งคู่ และมีแฟนเพลงมารุมล้อมอยู่เป็นประจำ ต่อมา ไพรวัลย์สมรสอีกครั้งกับนางพรรณี หลังจากชื่อเสียงเริ่มแผ่วลง เขาก็ยุบวง หันไปเปิดร้านอาหาร " คนเห็น" ย่านสะพานปิ่นเกล้า แต่ไม่นานก็ต้องปิดกิจการเพราะขาดทุน จึงหวนกลับคืนวงการรับเชิญไปโชว์ตัวร้องตามคาเฟ่ ตามร้านอาหารทั่วไป

ต่อมาก็กลับมาร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงอีกครั้งจากผลงานเพลงของชลธี ธารทอง อดีตนักร้องร่วมวงรวมดาวกระจาย ที่หันมาเอาดีด้านแต่งเพลง ครูชลธีเขียนเพลงป้อนให้ไพรวัลย์หลายเพลง เช่น สำรวยลืมคำ แจกใบหย่า หนาวใจที่ชายแดน โดยเฉพาะเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ที่ทำให้ชื่อเสียงของไพรวัลย์ กลับมาโด่งดังอีกครั้ง

ไพรวัลย์ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2514 จากเพลง "เบ้าหลอมดวงใจ" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2521 จากเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง และได้รับรางวัลพระราชทาน จากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน และเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง ในปี พ.ศ. 2532

ปี 2528 ไพรวัลย์ ตกเป็นข่าวพัวพันคดีฆ่านายอุทัย ถัดหลาย อันมีชนวนมาจากขบวนการปลอมตั๋ว บ.ข.ส.ในสถานีขนส่งหมอชิต เหตุเกิดในร้านข้าวขาหมู ท้องที่สน.บางซื่อ และถูกนายบุญส่ง สิทธิน้อย มือปืนซุ้มดัง จ.ตาก ให้การซัดทอด ต่อมาไพรวัลย์ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บ โดยนางวรรณา ชูเปีย อดีตผู้กว้างขวางในขนส่งหมอชิต ที่ไปด้วยกันเสียชีวิต เหตุเกิดท้องที่ สภ.อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ไพรวัลย์ กลายเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นมาตลอด 17 ปี

ไพรวัลย์ ลูกเพชร ถูกนำส่งโรงพยาบาลชลประทาน ปากเกร็ด เมื่อ 26 ก.ย. 2546 เนื่องจากปัสสาวะเป็นเลือดและมีอาการอักเสบจากแผลกดทับที่มาจากการผ่าตัด กระทั่งอาการทรุดหนักและเสียชีวิตด้วยอาการน้ำท่วมปอด - แผลติดเชื้อขณะมีอายุได้ 61 ปีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. 2546 ที่วัดแจ้งศิริสัมพันธ์
พิธีประดิษฐานรูปหล่อและบรรจุอัฐิครูไพวัลย์ ลูกเพชร
นายกฤติวุฒิ ลูกเพชร บุตรชายคนเดียวของครูไพวัลย์ นำอัฐิพ่อมาไว้ใต้ฐานรูปหล่อ
ไพรวัลย์ ลูกเพชร
ไพรวัลย์ ลูกเพชร
กำลังโหลดความคิดเห็น