ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านบางละมุง-แหลมฉบังไม่เห็นด้วยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ชี้โครงการเก่ารุกพื้นที่ทำกินจนหมดอาชีพ แต่ไม่ได้รับการเยียวยา พร้อมยื่น 3 เงื่อนไขให้ท่าเรือหามาตรการแก้ปัญหาให้ลุล่วงก่อนเดินหน้าโครงการ ไม่เช่นนั้นค้านถึงที่สุดจนโครงการไม่ได้เกิดแน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มี.ค.) ท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อก้าวสู่การเป็นท่าจอดเรือหลักของสายการเดินเรือชั้นนำระดับโลก ที่โรงแรม เบลา วิลลา คาบาน่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีนายธงชัย ธรรมปรีดี ผู้อำนวยการกองการท่า ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธาน มีประชาชนจากพื้นที่แหลมฉบัง และบางละมุง เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่างานนี้สื่อมวลชนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในงานนี้ ขณะที่สถานที่จัดงานก็อยู่ในพื้นที่ที่หายาก และเดินทางลำบากด้วย
นายธงชัย ธรรมปรีดี ผู้อำนวยการกองการท่า ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะได้รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อมูลผลกระทบต่างๆ ทั้งด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ประกอบข้อมูลในการดำเนินการ ซึ่งในเดือนก.ค.จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในชลบุรี ก่อนจะจัดอีกครั้งที่กรุงเทพมหานครและนครราชสีมา เพราะเป็นพื้นที่ลอจิสติกส์เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่คาบเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการดังกล่าวด้วย
สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะใช้เวลาศึกษาโครงการทั้งสิ้น 1 ปี การออกแบบโครงการอีก 1 ปี ระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้าง 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในอีก 6-8 ปี ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ พบว่า ตัวแทนชาวบ้านจำนวนมากได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ไม่พอใจการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังที่ผ่านมา จึงได้มีการยื่นข้อเสนอ 3 ข้อต่อเรือแหลมฉบังให้ดำเนินการก่อนเริ่มการพัฒนาเพื่อหารายได้
นายรุ่งระวี โสดานา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กล่าวว่า พวกเรามีอาชีพทำประมงชายฝั่ง ที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังมาแล้วทั้งเฟส 1 และ 2 จากที่ทำกินลดลง การจับสัตว์น้ำทำได้ยากขึ้น โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยยังไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ลุล่วง และจะมาพัฒนาในเฟส 3 จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง พวกเราอยากให้ท่าเรือแหลมฉบังให้ความสำคัญในชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่และชาวประมงท้องถิ่นด้วย เพราะเชื่อแน่ว่าการดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงเรืออวนลากอย่างแน่นอน ซึ่งอาจต้องหยุดทำประมงในช่วงระยะที่ก่อสร้างและปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ดังนั้น ก่อนที่จะมีการพัฒนาโครงการ ชาวบ้านมีข้อเสนอให้ท่าเรือดำเนินการในเบื้องต้น 3 ข้อ คือ 1.ท่าเรือควรหามาตรการช่วยเหลือให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้ มีงานทำ เพราะในช่วงการก่อสร้างจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม 2.ช่วงระยะเวลาที่ทะเลฟื้นตัว ซึ่งไม่มีสัตว์น้ำชายฝั่งให้จับ ควรมีมาตรการช่วยเหลือชาวบ้านที่ชัดเจน และ 3. ต้องการให้สนับสนุนให้ลูกหลานชาวบ้านได้ทำงานในโครงการ เพื่อเสริมสร้างอาชีพในอนาคตแทนการจ้างแรงงานจากต่างถิ่น
“หากข้อเสนอของเราไม่ได้รับการพิจารณา และเป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้ พวกเราพร้อมที่จะรวมตัวกันคัดค้านโครงการดังกล่าวให้ถึงที่สุด”
ด้าน นายธวัชชัย ประคองขวัญ ประธานกลุ่มประมง บางละมุง เผยว่า ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมท่าเรือแหลมฉบังจึงจะเร่งพัฒนาท่าเรือเฟส 3 เพราะดูจากเอกสารที่การท่าเรือนำมาแจกให้ชาวบ้าน พบว่า ท่าเรือเฟส 2 ซึ่งก่อสร้างสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ ตนจึงคิดว่าควรที่จะใช้ประโยชน์จากเฟส 1 และเฟส 2 ให้เต็มที่ก่อนจะมาพัฒนาในเฟส 3 ซึ่งการพัฒนาท่าเรือในแต่ละครั้ง สร้างความเจ็บช้ำให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพประมงอย่างมหาศาล เพราะเท่ากับเป็นการทำลายอาชีพพวกเรา
การขยายท่าเรือแต่ละครั้งก็เหมือนกับการทำลายพื้นที่การทำประมงชายฝั่ง ที่ปัจจุบันก็เหลือน้อยแล้ว ในขณะที่จำนวนเรือประมงชายฝั่งมีถึง 300 - 500 ลำ ต้องแย่งพื้นที่การทำประมงกัน จึงอยากจะให้ภาครัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณากันให้รอบคอบไม่ใช่นึกถึงแต่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยลืมนึกถึงประชาชนเจ้าของพื้นที่