xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.เปิดถกบทเรียนน้ำท่วมใหญ่อีสาน-ชง ครม.เป็นโมเดลแก้ปัญหาทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เปิดเวทีสัมมนา “สรุปบทเรียนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ (21 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- เปิดเวทีถกบทเรียนน้ำท่วมครั้งใหญ่อีสานที่โคราช ระดมแนวคิดร่วมกันหามาตรการป้องกัน และแก้ปัญหารับมือท่วมซ้ำซาก ด้าน ปภ.เผยบทเรียนได้จากการสัมมนาที่สงขลา-โคราช สรุปนำเสนอ ครม. พร้อมแจกจ่ายไปทุกจังหวัดเพื่อเป็นโมเดลรับมือภัยพิบัติอื่นๆ พร้อมดึง ก.วิทย์ นำเทคโนโลยีมาใช้รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยเลือก โคราช-ชัยภูมิ เป็นจังหวัดนำร่อง

วันนี้ (21 มี.ค.) ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “สรุปบทเรียนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและประเมินผลการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ผ่านมา รวมถึงระดมแนวความคิดเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนของปีนี้ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมารวม 350 หน่วยงานในภาคอีสานเข้าร่วมในการสัมมนา

นายวิบูลย์ สงวนวงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดการสัมมนารวม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดที่ จ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ และครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.นครราชสีมาในวันนี้ ซึ่ง จ.นครราชสีมา ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ประชาชน ได้รับความเดือดร้อนกว่า 1.2 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อร่วมกันสรุปบทเรียนจากการเกิดอุทกภัยที่ผ่านมา และเตรียมการในเรื่องการเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การสัมมนานั้นแต่ละฝ่ายได้นำบทเรียนมาถกกัน ว่า จะรับมืออุทกภัยครั้งใหญ่ด้วยวิธีการใด และเมื่อเกิดเหตุแล้วจะร่วมกันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งบทเรียนต่างๆ ที่ได้จากการประชุมทั้ง 2 ครั้งนี้ ทางกรมฯ จะได้รวบรวมสรุปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแจกจ่ายไปยังจังหวัดทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยเพื่อเป็นแนวทาง หรือ เป็นโมเดล ให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

“สิ่งที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ที่ จ.นครราชสีมา และถือเป็นบทเรียนที่ดี คือ ทุกภาคส่วนต้องเพิ่มความเข้มข้นของการปฏิบัติงานให้มากขึ้น เช่น การวางแผนรับมือ, การทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องสอดประสานกัน, การกระตุ้นให้ประชาชนมีวัฒนธรรมในการเตือนภัยต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่ประชาชนไม่เชื่อคำเตือนของทางราชการ ชะล่าใจคิดว่าน้ำไม่ท่วมถึง เหล่านี้ต้องทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการวางผังเมือง, การก่อสร้างแก้มลิง การสร้างระบบระบายน้ำต่างๆ” นายวิบูลย์ กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมักจะเกิดภัยพิบัติขึ้นซ้ำซ้อนในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น บางจังหวัดเกิดน้ำท่วมแต่อีกจังหวัดหนึ่งก็เกิดภัยแล้ง เมื่อภัยแล้งยังไม่หมดก็มีภัยหนาวตามมาอีก เป็นเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ทั้ง 2 กระทรวงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยจะนำเอาเทคโนโลยีดาวเทียมมาประยุกต์ใช้กับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งได้เลือกพื้นที่นำร่องที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ชัยภูมิ เป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างการป้องกันภัยแล้ง โดยทั้ง 2 กระทรวงจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นและขอข้อมูลต่างๆ ด้วยการจัดสัมมนาระดมความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ที่ จ.นครราชสีมา

สิ่งที่ประชาชนทำได้ดีที่สุดหากเกิดอุทกภัยซ้ำขึ้นอีก คือ นำบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีก่อนเอามาเป็นข้อคิด เช่น หากเจ้าหน้าที่เตือนแล้วต้องเชื่อฟัง ไม่ต้องไปห่วงสิ่งของ บ้านเรือน ห่วงชีวิตตัวเองดีที่สุด หรือ ชะล่าใจคิดว่าน้ำไม่ท่วมหนัก ซึ่งเรื่องแบบนี้ทำได้ทุกคนทันที หรืองบประมาณที่รัฐบาลจะให้ จ.นครราชสีมา มาดำเนินการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 270 ล้านบาท ช่วงกลางปีนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำโครงการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งดำเนินการ

ส่วนปัญหาระยะยาวกแก้ไขกันไปตามแผนที่วางไว้ ไม่ใช่เรื่องแน่นอนเสมอไปว่าปีนี้ จ.นครราชสีมาจะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นอีก แต่หากเราไม่เริ่มหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไว้ก่อนก็จะทำให้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดี ความเสียหายก็น้อย

“ฉะนั้น แต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ที่รู้ดีในพื้นที่ว่าควรจะเริ่มทำอะไรก่อนหลัง แต่ทั้งนี้ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพราะไม่มีใครรู้บ้านเราดีเท่ากับตัวของเราเอง” นายวิบูลย์ กล่าว
นายวิบูลย์  สงวนพงศ์  อธิบดีกรม ปภ.





กำลังโหลดความคิดเห็น