ตราด - อบต.แหลมกลัด เตรียมแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่ง หลังมีต้นสนล้มถูกคลื่นซัดล้มกว่า 10 ต้น เจ้าท่าฯตราดเผยการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบเปลี่ยนทิศทางน้ำ ระบุ ต.แหลมกลัด, ไม้รูด โดนกัดเซาะมากที่สุดอันดับต้นๆ ของไทย
จากสถานการณ์น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ตำบลแหลมกลัด ทำให้เสียพื้นที่ตามแนวชายฝั่งที่มีความยาวถึง 20 กิโลเมตร ประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตามแนวชายฝั่งจึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด (อบต.) จึงมีการเสนอข้อคิดเห็นในที่ประชุมเพื่อหาข้อแก้ไขกับสภาพปัญหาดังกล่าว
นายประดิษฐิ์ คุ้มชนม์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด เปิดเผยกับปัญหาในเรื่องนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งต้องการที่จะก่อสร้างทำแนวกั้นคลื่น แต่ไม่สามารถที่จะก่อสร้างได้ เนื่องจากทางจังหวัดไม่สามารถอนุมัติการสร้างได้ เพราะจะต้องมีการสำรวจพื้นที่ ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำการตกลงในข้อกฎหมายก่อน
ในการประชุมร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ได้มีการนำเสนอให้จัดทำเป็นแบบยุทธศาสตร์ โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดออกตรวจสอบพื้นที่ตาม EIA ตามข้อตกลงของอำเภอหรือจังหวัด เพื่อให้มีข้อสรุปที่ออกมาตรงกัน
“ถ้าหากมีการทำ EIA เป็นอย่างที่มีการเสนอจังหวัดตราด และพื้นที่ตำบลแหลมกลัดจะไม่มีการเสียพื้นที่เพิ่มเติม เพราะว่าในพื้นที่ตำบลแหลมกลัดมีความยาวที่ติดชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งแต่ละปีจะมีเนื่อที่หายไปประมาณ 10 ไร่ แต่ละปีน้ำทะเลจะกัดเซาะเข้าไปในพื้นที่ประมาณ 3-4 เมตร ทำให้พื้นที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะต้นไม้ล้มเป็นจำนวนมาก”
ด้านนายสุรชัย บุรพนนทชัย หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำ ที่ 6 ตราด กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินมักจะเกรงว่าที่ดินบริเวณชายหาดทั้ง ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ และ ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในแต่ละปีจะมีความเสียหายตั้งแต่ 1-2 เมตร ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้จำเป็นต้องทำเขื่อนกันคลื่นเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำเขื่อนของผู้ประกอบการเหล่านี้ทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน เพราะหากไม่ดำเนินการพื้นที่ชายฝั่งข้างเคียงจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนทิศทางของคลื่น ทำให้ชายฝั่งได้รับความเสียหาย หากมีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างก็จะได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ทางสำนักงานจะออกไปตรวจสอบ และดำเนินการจับกุมผู้ประกอบการที่กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อไป
“พื้นที่ชายฝั่งของ ต.ไม้รูด และ ต.แหลมกลัด เป็นพื้นที่ชายฝั่งด้านทะเลตะวันออก ที่ประสบปัญหาด้านถูกคลื่นซัด และทำลายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องหาทางป้องกัน และแก้ไขให้ถูกตามหลักวิชาการ การดำเนินการใดๆ ของผู้ประกอบการในขณะนี้ยังไม่มีรายใดได้รับการอนุญาตจากสำนักงาน ซึ่งสำนักงานจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบและเก็บข้อมูลด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้”