บุรีรัมย์ - ชลประทานบุรีรัมย์ ผวาวิกฤตขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้ง เร่งประสานขอ “ฝนหลวง” เติมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งหลัก แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองบุรีรัมย์ หลังแห้งเหลือไม่ถึง 40 % เผยของบฯ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำที่ตื้นเขินแก้ปัญหาระยะยาว พร้อมเร่งผันน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาสำรองใน “อ่างห้วยจระเข้มาก” ขณะเกษตรกร อ.บ้านด่าน แย่งกันสูบน้ำเข้านาปรังเกรงข้าวยืนต้นตายเสียหายยับ
วันนี้ (15 มี.ค.) นายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า หลังจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งสำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก, อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมืองบุรีรัมย์, อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย อ.กระสัง และ อ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปาบริการประชาชน มีระดับน้ำกักเก็บไม่ถึง 40% ของความจุอ่าง ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เกรงจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง
ชลประทานจึงได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อดำเนินการประสานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงนครราชสีมา ให้เร่งออกปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวง เพื่อเติมปริมาณน้ำในอ่างที่มีระดับกักเก็บต่ำ ให้มีน้ำดิบเพียงพอในการผลิตประปา ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งนี้
ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว โครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เสนอของบประมาณไปยังกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำที่ตื้นเขินให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากดังกล่าวด้วย
นายยงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั้ง 22 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ 182 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 60 % ของความจุอ่างทั้งสิ้น 299 ล้าน ลบ.ม.และมีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ดังกล่าวที่น่าห่วง เพราะมีระดับน้ำกักเก็บไม่ถึง 40% ของความจุซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ที่ใช้เป็นน้ำดิบในการผลิตประปาบริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช กว่า 20,000 ครัวเรือน ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บอยู่เพียง 8 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 33% ของความจุอ่าง ขณะนี้ทางชลประทานได้งดปล่อยน้ำในการทำการเกษตรแล้ว เพราะเกรงน้ำดิบจะไม่เพียงพอผลิตประปา
สำหรับการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางชลประทาน ได้ผันน้ำจากลำน้ำมาศ อ.ลำปลายมาศ มาเติมในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากแล้วกว่า 1.5 ล้าน ลบ.ม.เพื่อเก็บสำรองไว้ในการผลิตประปา เพราะช่วงนี้ต้องใช้น้ำดิบผลิตประปามากถึงวันละ 25,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเฉลี่ยเดือนละ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ประกอบสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้น้ำในอ่างระเหยรั่วซึมอีกกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร รวมเฉลี่ยน้ำดิบผลิตประปาและน้ำที่ระเหยรั่วซึมรวมทั้งสิ้น เดือนละกว่า 2 ล้านลบ.ม. จึงร้องขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หลังน้ำในอ่างเก็บน้ำ “หนองกะโตวา” ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ที่สุดในอำเภอมีเนื้อที่กว่า 300 ไร่ เริ่มแห้งขอด เนื่องจากเกษตรกร ต.ปราสาท พากันใช้เครื่องสูบน้ำสูบมาหล่อเลี้ยงข้าวนาปรังที่ปลูกไว้กว่า 2,000 ไร่ ที่เหลือระยะเวลาเก็บเกี่ยวอีกร่วม 2 เดือน เกษตรกรจึงแย่งกันสูบน้ำจากอ่างไปใส่นาข้าวของตัวเอง เพราะเกรงข้าวจะแห้งตายเสียหาย โดยชาวบ้านระบุว่าภัยแล้งครั้งนี้ถือว่ารุนแรงในรอบ 15 ปี
นายประสิทธิ์ ไวสาหลง อายุ 36 ปี เกษตรกร ม.7 ต.ปราสาท อ.บ้านอ่าน กล่าวว่า ปีนี้มีชาวบ้านในตำบลปราสาท อ.บ้านด่าน ปลูกข้าวนาปรังมากกว่าทุกปีถึงกว่า 2,000 ไร่ เพราะราคาข้าวจูงใจ ส่วนตนทำนาปรังเป็นปีแรกจำนวน 10 ไร่ ทำให้เกษตรกรต้องแย่งกันสูบน้ำจากอ่างหนองกะโตวา ที่มีเพียงแห่งเดียว ทำให้น้ำในอ่างตื้นเขินลงอย่างรวดเร็ว โดยขณะนี้ได้ลงทุนซื้อน้ำมันเครื่องสูบน้ำไปแล้วร่วม 40,000 บาท เพราะเหลือเวลาอีกร่วม 2 เดือนจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้