xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดเรียกทุกฝ่ายร่วมถกแผนใช้น้ำอิง-กว๊านพะเยา หลังแล้งจัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - จังหวัดฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มผู้ใช้น้ำ 14 ฝายลุ่มน้ำอิง หารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำอิง-กว๊านพะเยา หลังออกประกาศให้ 8 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง

วันนี้ (14 มี.ค.) ที่ห้องประชุมจอมทองชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา สำนักงานชลประทานจังหวัดพะเยา ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน 14 ฝายลุ่มน้ำอิง เพื่อร่วมบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอิง และกว๊านพะเยา โดยมีนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนจากกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ใต้กว๊านพะเยา 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว และ อ.เมืองพะเยา ร่วมประชุม

ที่ประชุมมีการเสนอข้อมูลว่า การใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกข้าว และพืชผลทางเกษตร ในปีที่ผ่านมามีปริมาณสูงมาก บางพื้นที่ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ส่วนสถิติระดับน้ำกว๊านพะเยาปี 54 มีน้ำตั้งทุนมากกว่าปี 53 แต่ปริมาณการใช้น้ำปี 54 ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 53

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ นายช่างชลประทานอาวุโส ชลประทานจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมง จ.พะเยา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา เบื้องต้นทราบว่า ขณะนี้กว๊านพะเยามีปริมาณน้ำ 26 ล้าน ลบ.ม. สามารถระบายน้ำไปให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และชาวนาปรังได้ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. หากว่าปล่อยน้ำไปมากกว่านี้จะกระทบต่อผู้ใช้น้ำประปา กระทบต่อการทำนาในปีนี้ และช่วงสงกรานต์น้ำอาจไม่เพียงพอก็เป็นได้

ทำให้ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมได้มีข้อตกลง ในการปล่อยน้ำ จากเดิมที่ขอไว้ 5 ล้าน ลบ.ม. เป็นครั้งละไม่เกิน 3 ล้าน ลบ.ม.ทุกวันที่ 10 ของเดือน จนถึงเดือน เม.ย. 54

นายนิมิตกล่าวว่า จังหวัดพะเยาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มีคำสั่งแต่งตั้งศูนย์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดพะเยา ประจำปี 2554 แล้ว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 53 ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัด รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเป็นการบูรณาการให้ความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนสู่ผู้ประสบภัยด้วย

ขณะเดียวกัน จังหวัดพะเยาก็ได้ออกประกาศให้ 8 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย อ.ดอกคำใต้, จุน, ปง, ภูซาง, ภูกามยาว, เชียงคำ, เชียงม่วน และ อ.แม่ใจ (ยกเว้น อ.เมืองพะเยา) รวม 52 ตำบล 572 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ ประสบภัยพิบัติภัยกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง หลังพบว่า หลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคแล้ว เพื่อเร่งอนุมัติเงิน 50 ล้านบาท ในอำนาจผู้ว่าฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ปีนี้ทางจังหวัดคาดการณ์ว่าจะแล้งหนัก และยาวนานกว่าทุกปี โดยได้กำชับให้อำเภอรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชน และขอให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ลดปริมาณการปลูกข้าวนาปรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น