xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมูล” บุรีรัมย์แห้งวิกฤตผู้เลี้ยงปลาเดือดร้อนหนัก โวยแห้วแก้ปัญหาตั้งแต่ รบ.แม้ว-มาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำมูล แห้งขอดวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง  ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กว่า 200 กระชัง ต้องหยุดการเลี้ยงปลา ทำขาดรายได้เดือดร้อนหนัก วันนี้ ( 9 มี.ค.)

บุรีรัมย์ - “น้ำมูล” บุรีรัมย์ แห้งวิกฤตสุดรอบ 40 ปี กระทบเกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง อ.สตึก บุรีรัมย์เดือดร้อนหนัก ต้องหยุดเลี้ยงทำสูญรายได้กว่า 10 ล้าน ต้องอพยพไปขายแรงงานหาเงินใช้หนี้เงินกู้นอกระบบ เผย รัฐบาล “นช.แม้ว” ประชุม ครม.สัญจรบุรีรัมย์รับปากสร้างเขื่อน-ฝาย สุดท้ายแห้วถึงรัฐบาล “มาร์ค” วอนแก้แล้งซ้ำซากด่วน

วันนี้ (9 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้ง จ.บุรีรัมย์ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา และเข้าขั้นวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในเขตพื้นที่ ต.ท่าม่วง อ.สตึก ที่มีอยู่กว่า 20 ราย เลี้ยงปลากว่า 200 กระชัง ทำให้เกษตรกรต้องหยุดการเลี้ยงปลาชั่วคราว เนื่องจากน้ำมีสภาพตื้นเขิน เน่าเสียเกิดกรดแก๊ส หากลงทุนเลี้ยงเกรงว่าปลาจะตาย หรือเกิดโรคระบาดได้ จึงทำให้เกษตรกรทั้งหมดต้องเสียโอกาส จะมีรายได้จากการเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นจำนวนเงินรวมมากกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทุกปีที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาจำหน่ายได้ปีละ 2-3 ครั้ง แต่ในปีนี้เลี้ยงปลายได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เนื่องจากสภาพความแห้งแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี เกษตรกรบางรายต้องอพยพแรงงานไปรับจ้างยังต่างจังหวัด และ กรุงเทพฯ หารายได้เลี้ยงครอบครัวเพื่อความอยู่รอด ประกอบกับต้องหาเงินมาใช้หนี้สิน ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาลงทุนทำอาชีพเลี้ยงปลา ทั้งหนี้ในและนอกระบบ รายละกว่า 100,000 บาท

นายเกตุ เยี่ยมรัมย์ หนึ่งในเกษตรกรผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง บ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในปีนี้น้ำมูลมีสภาพที่แห้งแล้งวิกฤตและน้ำแห้งเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องหยุดเลี้ยงปลาชั่วคราว เพราะสภาพน้ำตื้นเขินและเน่าเสีย ไม่สามารถเลี้ยงปลาได้ทำให้ต้องขาดโอกาส มีรายได้จากการเลี้ยงปลา

อีกทั้งปัจจุบันมีหนี้สินจากการกู้ยืมมาลงทุนเลี้ยงปลาอยู่กว่า 1 แสนบาท จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาสำรวจ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังได้ตลอดทั้งปี ก่อนที่อาชีพเลี้ยงปลากระชังจะหายไปจากลำน้ำมูล

นายเกตุ กล่าวต่อว่า สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งจัดประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หนึ่งในคณะรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ อ.สตึก รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมรับปากและสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสองฝั่งริมน้ำมูล ในการจัดสรรงบประมาณมาสร้างเขื่อน หรือฝายน้ำล้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้กับเกษตรกรได้มีน้ำใช้การอุปโภคบริโภค รวมทั้งด้านการเกษตรและปศุสัตว์ได้ตลอดทั้งปี โดยมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงมาดำเนินการก่อสร้าง

จนกระทั่งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องก็ยังเงียบหาย ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งให้กับชาวบ้านแต่อย่างใด จึงอยากให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านริมสองฝั่งลำน้ำมูลด่วน เพราะเดือดร้อนจากปัญหาภัยมาทุกปี

“ซ้ำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปลาตาย และได้รับความเสียหายเมื่อครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้รับการชดเชยจากทางภาครัฐแม้แต่บาทเดียว ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินพอกพูนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางรายต้องเลิกอาชีพเลี้ยงปลา อพยพไปหางานทำต่างจังหวัด เพื่อความอยู่รอด เพราะปัญหาภัยแล้งซ้ำซากนี้” นายเกตุ กล่าว






นายเกตุ  เยี่ยมรัมย์ เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชัง
กำลังโหลดความคิดเห็น