xs
xsm
sm
md
lg

แม่น้ำมูลลดจนเห็นตอม่อจับตาปีนี้เจอแล้งหนักแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพน้ำในแม่น้ำมูล ช่วงนี้ได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนสามารถเห็นตอม่อสะพานแล้ว
อุบลราชธานี/ตาก - ปัญหาภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสุดอุบลฯมีพื้นที่เสียหายจากผลผลิตขาดน้ำแล้วกว่า 4,000 ไร่และจ่อคิวเสียหายอีกเกือบ 7,000 ไร่ ด้านระดับน้ำแม่น้ำมูล มีระดับน้ำลดลงจนตอม่อตามสะพานข้ามแม่น้ำโผล่พ้นน้ำหลายแห่ง ด้านแม่น้ำวังก็แห้งต่อเนื่อง ชาวบ้านบางส่วนใช้เป็นโอกาสลงจับปลาขึ้นมาวางขายข้างถนน ทำรายได้ดีช่วงสั้นๆ สู้ภัยแล้ง

วานนี้ (8 มี.ค.) นายบพิตร พันธ์พินิจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศให้ทั้ง 25 อำเภอ 165 ตำบลกว่า 1,700 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เบื้องต้นได้รับรายงานพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งพืชสวน และพืชไร่ใน อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.ดอนมดแดง ได้รับความเสียหายจากขาดน้ำกว่า 4,000 ไร่และมีพื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกราว 7,000 ไร่ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

โดยสาเหตุสำคัญของพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหาย เกิดจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ ทำให้น้ำผิวดินระเหยอย่างรวดเร็ว เกษตรกรหาน้ำมาหล่อเลี้ยงผลผลิตไม่ทัน ทำให้ได้รับความเสียหายจำนวนมากดังกล่าว

ด้านระดับแม่น้ำมูลก็มีระดับน้ำลดลงจากเดิมมาก โดยระดับน้ำตามสะพานข้ามแม่น้ำมูลหลายแห่ง มีระดับน้ำสูงจากท้องน้ำเฉลี่ยราว 2-3 เมตรเท่านั้น ทำให้ตอมjอตามคอสะพานข้ามแม่น้ำมูลเริ่มโผล่พ้นน้ำ จึงคาดว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้จะมาเร็วและมีความรุนแรงกว่าปกติ จึงขอให้ประชาชนเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นด้วย

“น้ำวัง”แห้งขอด-ชาวบ้านแห่จับปลาขายทำเงินสู้แล้ง

มีรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดตาก เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแม่น้ำวัง ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงประชาชนและเกษตรกรใน อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก ขณะนี้น้ำแห้งจนบางจุดคนสามารถเดินข้ามไปมาได้ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ มะละกอ ฝรั่ง และข้าวโพดต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีน้ำพอที่จะรดผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการทำการเกษตรไม่ได้ โดยชักชวนพากันแห่ลงจับปลาในแม่น้ำวัง ซึ่งมีทั้งปลากด ปลาเนื้ออ่อน ปลานิล และปลาสวาย โดยแต่ละคนสามารถจับได้คนละหลายสิบกิโล แล้วนำมาวางขายริมถนนหลวง มีประชาชนขับขี่รถผ่านไปมาหาซื้อกัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่กำลังประสบภัยแล้งได้วันละหลายร้อยบาทต่อคน

รายงานข่าวแจ้งว่า นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ(ภัยแล้ง) ทั้ง 9 อำเภอ และเร่งสนับสนุนงบประมาณโดยการกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง โดยให้ประชาชนแต่ละหมู่บ้าน-ชุมชน สร้างฝายชะลอน้ำ-ฝายน้ำล้น เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง ที่คาดว่าจะยาวนาน โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุดคือ อ.เมือง-อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก
กำลังโหลดความคิดเห็น