นครปฐม - ควันหลงหลังปิดฉากม่านกล้วยไม้ภายในพระราชวังสนามจันทร์นครปฐมกับกิจกรรมท่องเที่ยว Unseen ของเมืองเจดีย์ใหญ่ บทสุดท้ายกับคำถามว่าเราได้อะไรจากการจัดงานที่หวังดึงเม็ดเงินเข้าจังหวัดนครปฐม หรือเป็นเพียงบทสรุปที่คุ้มค่าของนักท่องเที่ยว แต่กลุ่มเกษตรกรครวญยอดขายตกต่ำกว่าปีที่แล้วหลายเท่าตัวเป็นดัชนีชี้วัดทิศทางกล้วยไม้ของไทยควรเดินต่อทิศทางใด
แม้จะจบสิ้นไปแล้วกับงานมหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นงาน Unseen ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวประจำปี 54 ภายใต้ชื่องาน “พระราชวังสวย กล้วยไม้งาม นครปฐม 54” เพียงวันแรกสีสันของดอกไม้ที่โดดเด่นปรากฏอวดสายตาของผู้เข้าร่วมชมและนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 2-6 มีนาคม 2554 นับรวมเวลา 5 วันกับการประกวดพันธุ์กล้วยไม้ชนิดต่างๆ รวมถึงการจัดสวนกล้วยไม้ ไม้ตัดดอก ซึ่งถือเป็นพระเอกของรายได้ที่นำเม็ดเงินเข้าจากต่างประเทศไทย รวมถึงการจัดสวนกล้วยไม้ สู่ความสงบ สันติ สามัคคี เป็นอีกหนึ่งที่มีการคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมความสวยงามของการนำเหล่ากล้วยไม้หลากสายพันธุ์มาตกแต่งเพื่อดึงดูดนักถ่ายภาพให้เข้ามาชมและเก็บภาพบรรยากาศที่สวยงาม
โดยตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่มภายในงานได้ร่วมชมกล้วยไม้นานาพันธุ์ที่ได้รับรางวัลจากการประกวด ซึ่งในวันแรกนักท่องเที่ยวนั้นไม่มากนักเนื่องจากเป็นวันเวลาราชการและยังไม่ใช่วันหยุดราชการ โดยมีร้านค้ามาเปิดจำหน่ายกล้วยไม้รวมถึงต้นไม้จากทั่วประเทศจำนวนนับร้อยร้านค้าซึ่งยังไม่ได้มียอดจำหน่ายได้มากนัก
ทั้งนี้ พบว่าในส่วนของพระตำหนักต่างๆ ของพระราชวังสนามจันทร์นั้น มีประชาชนที่สนใจได้เริ่มเข้ามาเที่ยวชมในพระตำหนักต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดรถโดยสาร 2 คันเพื่อรับส่งผู้เข้าร่วมภายในงานตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วง 08.00-20.00 น. แม้บรรยากาศจะร้อนแต่ก็ยังพบว่ามี่นักท่องเที่ยวได้เข้าชมในส่วนกล้วยไม้มากนัก และยอดการจำหน่ายลดลงกว่าการจัดงานครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน
กระทั่ง 2 วันสุดท้ายของการจัดงานซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ นักท่องเที่ยวได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นวันละเฉลี่ย 5-6 พันคน ส่วนใหญ่ได้เข้าชมความงามของพระตำหนักต่างๆในพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์ เนื่องจากพบว่ากล้วยไม้ที่จัดแสดงบางช่อเริ่มเหี่ยวเฉาเพราะอากาศร้อนแต่ก็พบว่าแต่ละซุ้มของการจัดการแสดงไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการให้ความรู้มาคอยบริการในจุดที่มีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ผิดกับเจ้าหน้าที่ในส่วนของพระราชวังสนามจันทร์ ที่ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอบบริการนักท่องเที่ยวให้เข้าชมในพระตำหนักต่างๆตามจุดและมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำหนักที่คอยดูแลความเรียบร้อยและให้ความรู้ตลอดช่วงการจัดงาน
นางศิริมา เพ็งนรพัฒน์ เกษตรจังหวัดนครปฐม ได้ให้ข้อมูลว่า ในการจัดงานเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานในระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 53 นั้นเป็นช่วงเวลาที่ตรงกันกับการจัดงานของปีแรกซึ่งประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ส่วนในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเข้าชมงานโดยสรุป แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 65 คน นักเรียน-นักศึกษา 8,455 คน ประชาชน-บุคคลทั่วไป 15,552 คน รวมประมาณ 24,072 คน และมีจำนวนบูท จำหน่ายกล้วยไม้ไม้ดอกไม้ประดับและสินค้าเกษตรอื่นๆ จำนวน 130 บูธ ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม จำนวน 20 บูท และปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมงานไม่แตกต่างจากปีที่แล้วนัก และถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
ส่วนนายสุริยะ เปี่ยมรอด นวส.ชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวว่าปีนี้เราใช้งบประมาณ 1.5 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นงบประมาณในด้นการจัดซุ้มกล้วยไม้ต่างๆ และการจัดให้เกษตรที่มีความรู้มาบรรยายสาธิตให้ความรู้ผู้ที่ลงทะเบียนในการจัดงานซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้เลื่อนการจัดงานจากปีก่อนมาเป็นวันที่ 2-6 มีนาคม เนื่องจาการจัดงานในวันเวลาเดิมนั้นไปตรงกับการจัดงานของกรุงเทพซึ่งเกษตรกรนั้นได้ไปตั้งบูธในกรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ โดยอุปสรรคในปีนี้คือการประชาสัมพันธ์ที่มีน้อยเกินไปจึงทำให้ประชาชนนั้นไม่ทราบว่ามีการจัดงานครั้งนี้มากนัก
ส่วนภายในงานยังพบว่า การจัดรถรับส่งนักท่องเที่ยวนั้นมีน้อยเกินไปโดยเฉพาะ 2 วันสุดท้ายนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเหมาซื้อกล้วยไม้ที่ลดราคาก่อนจะหมดงานต้องเดินไปกลับหลายรอบเพื่อนำกล้วยไม้ไปเก็บไว้ที่รถของตัวเองซึ่งมีที่จอดไกลเกินไป บางรายต้องเดินถึง 2-3 รอบ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรก็ได้ประสานช่วยการบริการนำไปส่งยังรถส่วนตัว
โดยปัญหาต่างๆ นั้นยังไม่ได้มีการสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากต้องมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่ายเพื่อสรุปรายงานไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมถึงผลการจัดงาน เนื่องจากงานนี้ถือเป็นจุดหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดนครปฐม โดยสรุปเบื้องต้นถือว่าพอใช้ได้
ด้าน นายสัญชาติ วัชราภิรักษ์ ผอ.พระราชวังสนามจันทร์ เปิดเผยว่า ปีนี้ทางพระราชวังสนามจันทร์นั้นมีการเตรียมความพร้อมมาตอลดเป็นงานประจำปกติเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในทุกวันอยู่แล้ว
โดยแฉพาะการจัดเจ้าหน้าที่ในการบริการที่จอดรถนั้น มีการแบ่งเจ้าหน้าที่ประสานงานหลายส่วนซึ่งในส่วนของพระตำหนักต่างๆ มีนักท่องเที่ยวเข้าชมและถ่ายภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเราได้เป็นฝ่ายบริการให้ใช้สานที่จัดงานและจัดประสานงานในด้านต่างๆ ในพระราชวังให้เกิดความเรียบร้อยและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและยังได้มีการช่วยประสานงานกับสื่อต่างๆ ให้แก่งานครั้งนี้ด้วย
ขณะที่กลุ่มแม่ค้าที่มาจำหน่ายกล้วยไม้ต่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้การจำหน่ายกล้วยไม้ถือว่าล้มเหลวกว่าทุกปี เพราะคนส่วนใหญ่จะเน้นเข้าชมพระราชวังสนามจันทร์ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ยอดการจำหน่ายไม่น่าจะต่ำมากขนาดห่างกันหลายเท่าตัว โดยโซนที่ถือว่าใกล้กับจุดแสดงการประกวดกล้วยไม้ แม่ค้าบอกว่าปีแรกที่จัดงานหลังจบงานมีรายได้นับแสนบาท ปีต่อมายอดลดลงเหลือราว 5 หมื่นบาท ปีนี้วันสุดท้ายเหลือเพียง 2 หมื่นบาท ถือว่าแทบจะขาดทุน
ส่วนนายโอ๊ค อายุ 31 ปี จากมานิตย์การ์เด้นท์ ผู้ผลิตกล้วยไม่รายใหญ่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บอกว่ากล้วยไม้ที่นำมาในงานปีนี้นำเอาคุณภาพที่ดีมาจำหน่าย แต่ปรากฏว่ายอดขายหายไปมากเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่ากล้วยไม้ที่เดิมทีนำเข้ามาจัดสวนของนักเล่นกล้วยไม้ ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และต่อมาก็เป็นส่วนของราชนิกูลนั้นวันนี้ราคาต่ำอย่างน่าอนาถ และขาดการดูแลจากภาครัฐ ทางกลุ่มก้อนเอกชนเป็นสมาคมหรือชมรมต่างๆ ต้องหาตลาดทั้งในและต่างประเทศกันเอง ยิ่งการจัดงานในปีนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลยเพื่อกระตุ้นการขายและการประสานงานต่างๆ โดยบอกว่าทางสวนของตนเองนั้นเตรียมจะเดินทางนำกล้วยไม้ไปแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ตอนนี้ได้ของบูธไว้แล้ว ซึ่งที่นั่นเป็นตลาดใหญ่มากและเราต้องไปแสดงศักยภาพและหาตลาดโดยจะไปรอภาครัฐให้ช่วยเหลือคงไม่มีทาง
นายโอ๊คยังบอกว่า ขณะนี้ประเทศเวียดนามกำลังพัฒนากล้วยไม่อย่างชัดเจน เชื่อว่าไม่เกิน 5-10 ปี เค้าจะแซงหน้าเราทั้งเรื่องของคุณภาพ และปริมาณ เพราะทางภาครัฐนั้นมีการให้เกษตรกรจัดเสนอโปรเจ๊คในการทำตลาดและรัฐออกเงินให้ เป็นสวนเพื่อการท่องเที่ยวด้วยเหมือนดั่งที่ท่องเที่ยวแบบสวนนงนุชแต่บ้านเราไม่มีเลย และเวียดนามติดปัญหาเดียวคือเรื่องภัยธรรมชาติ หากเขาแก้ได้และทำเป็นระบบปิดรับรองเขาไปไกลกว่าเราแน่นอน ส่วนงานปีนี้ที่มาร่วมเพราะมาด้วยใจและต้องยอมรับว่าเราต้องยอมควักทุนเพื่อมาช่วยสมาคมกล้วยไม้ฯ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นในเมืองไทย
ขณะที่ นางสิริธร จาก สวนสิริธร เกษตรกร จาก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม บอกว่า งานนี้มาจำหน่ายสินค้าขาดทุนและตนเองนั้นไม่ได้อยู่ในสมาคมฯ จึงถูกจัดร้านให้ไกลกว่าสถานที่จัดงานโดยมีระบบเส้นสายเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ร้านค้าที่มาตั้งไกลเกินไป ลูกค้ามองแทบไม่เห็นว่ามีร้านค้าในบริเวณทางออกด้านหลังและตนเองก็ต้องมาเสียเงินค่าบูธ 2,000 บาทและจ่ายค่าที่ วันละ 400 บาท บางวันขายต้นไม่ได้ 500 บาท บางวัน ก็ 1,000 บาท และไม่ได้รับการเหลียวแลเลย
ส่วน นางปราณี แม่ค้าจำหน่ายเซรามิกจากกรุงเทพฯ บอกว่า ปีหน้าคงไม่มีร่วมจัดงานเพราะมีคนเดินชมความงามของพระราชวังสนามจันทร์ แต่การประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ของสมาคมและเกษตรไม่มีบอกให้มาเที่ยวชมในส่วนด้านหลัง ตนเองมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าโรงแรมอีกวันละ 400 บาท ขายของแทบไม่ได้เป็นการเสียความรู้สึกที่มาร่วมในงานนี้
ทั้งนี้ยังบอกว่า การจัดงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่บางเขน ยิ่งกว่านี้ แค่เพียงค่าใบสมัครจำหน่ายสินค้าใบละ 500 บาท และไม่รับรองว่าจะได้ที่จำหน่ายหรือไม่ หากเลือกที่จำหน่ายในทำเลที่ดี คิดที่ละ 20,000 บาท หากต้องการหลายเจ้าต้องมีการประมูลกัน ซึ่งแม่ค้ารายเล็กนั้นบอกได้คำเดียวว่าไม่มีทุนไปต่อสู้ แล้วอย่างนี้จะให้พัฒนาวงการกล้วยไม้ในบ้านเราได้อย่างไร
จากการสอบถามในหลายๆ ส่วน การจัดงานในปีนี้ถือว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีและชัดเจนแม้จะเป็นการจัดงานที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดนครปฐมแต่ถือว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบยังหาจุดลงตัวเพื่อทำให้เป็นงานระดับที่เรียกว่า Unseen ไม่ได้ เพราะการประสานงานกับผู้ค้าขายยังไม่ชัดเจน รวมถึงยังไม่มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้ได้ชมอย่างจริงจัง รวมถึงรูปแบบการจัดงานในนั้นยังไม่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้จดจำในการกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้งในปีถัดไป มีเพียงในส่วนของพระราชวังสนามจันทร์ที่ยังคงมาตรฐานและยังรักษาคุณภาพของการบริหารงานด้านการท่องเที่ยวได้ตามมาตรฐาน
ฉะนั้น การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นดัชนีชี้วัดสถานการณ์ของกล้วยไม้ไทยของตลาดในประเทศได้ในระดับหนึ่งซึ่งมีผลถึงการวางแผนในตลาดต่างประเทศ และบ่งบอกถึงเส้นทางของผู้ประกอบการณ์กล้วยไม้ชนิดไม่ตัดดอกว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรจากภาครัฐ และหากปล่อยเวลาไว้ประเทศคู่แข่งอาจจะเดินแซงหน้าวงการกล้วยไม้ไทยในอนาคต แม้วันนี้จะไทยจะเป็นหนึ่งในเรื่องกล้วยไม้เขตร้อนในการส่งออก หากไม่มีการแก้ไขมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ หรือว่างานนี้จะเข้าทำนอง พระราชวังสวย กล้วยไม้โงนเงนก็ว่าได้