xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนแควน้อยเดินหน้าปล่อยน้ำช่วยนาปรังต่อเนื่องถึงเมษา 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิษณุโลก - เขื่อนแควน้อยปล่อยน้ำออกต่อเนื่องจนถึงเมษายนนี้ ช่วยนาปรังรอบแรกในเขตชลประทาน ก่อนรอลุ้นฝนตกหลังฤดูแล้ง เติมน้ำเต็มเขื่อน

วันนี้ (21 ก.พ.) นายสมหวัง ปานสุขสาร หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ฤดูแล้ง 54 นี้ เขื่อนแควน้อยมีแผนรับมือแล้ว โดยเตรียมพร้อมส่งน้ำให้ทุกพื้นที่ในเขตชลประทานท้ายเขื่อน ล่าสุด ระบายน้ำช่วยพื้นที่เกษตรบ้างแล้ว เหลือปริมาณน้ำกักเก็บที่ 426.52 ล้านลูกบาศก์เมตร (ระดับความสูงกักเก็บ 118.98 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากปริมาณน้ำเขื่อนแควน้อยทั้งหมด 760 ล้าน ลบ.ม.)

เขาบอกว่า ที่ผ่านมา เขื่อนได้ระบายน้ำออกตั้งแต่เดือนมกราคมวันละ 6.91 ล้าน ลบ.ม.และจะระบายต่อไปถึงเดือนเมษายน 54 นี้ ซึ่งจะทำให้มีน้ำเหลือประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.เพื่อช่วยพื้นที่ชลประทานภาคกลางตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลก และพิจิตร ในเขตชลประทานฝั่งขวา 15,226 ไร่ ชลประทานฝั่งซ้าย 8,600 ไร่ มั่นใจว่า ชาวนาจะสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ แม้จะไม่เต็มพื้นที่ชลประทาน 150,000 ไร่ก็ตาม เนื่องจากยังก่อสร้างระบบส่งน้ำไม่เสร็จสมบูรณ์ 100%

“แม้ว่าฤดูแล้ง ไม่มีฝน แต่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำแควน้อยค่อนข้างสมบูรณ์ ยังมีน้ำเข้าสู่เขื่อนเฉลี่ยวันละ 1.32 ล้าน ลบ.ม.และสิ้นฤดูแล้ง เมื่อมีฝน ก็สามารถเติมเข้าเขื่อน หมุนเวียนทั้งปี”

ส่วนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯต้องการลดพื้นที่การทำนาปรังรอบสอง ก็คือ ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้ว จะไม่อนุญาตให้ทำข้าวนาปรังรอบสอง จะส่งเสริมให้ปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อยแทน อาทิ ถั่ว, ผัก เพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาดในนาข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ปัญหาภัยแล้งยังคงปรากฏในหลายพื้นที่ แม้อยู่ตอนล่างของเขื่อนแควน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ ของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่อยู่ในลุ่มน้ำยม มักได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งซ้ำซากแหล่งน้ำทางธรรมชาติแห้งขอดอย่างรวดเร็ว จากที่เคยท่วมอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะที่บริเวณท่าโก หมู่ 3 ต.บางระกำ อ.เมืองพิษณุโลก คลองชลประทานหลายสายที่ระบายน้ำจากแม่น้ำยม ขณะนี้ได้เริ่มแห้งขอด ชาวบ้านที่ทำนาต้องกั้นดินเพื่อกักน้ำไว้ แล้วเร่งสูบน้ำขึ้นมาใช้ทางการเกษตร ส่งผลให้คลองแห้งขอด
กำลังโหลดความคิดเห็น