xs
xsm
sm
md
lg

เรือนจำพะเยาผุดแปลงสาธิตยางพาราหนุนผู้ต้องขังยึดเป็นอาชีพ-สกัดเส้นทางย้อนเข้าคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะเยา - ผบ.เรือนจำพะเยา ปิ๊งไอเดียสร้างอาชีพด้วยยางพารา เตรียมผุดแปลงสาธิต 5 ไร่ พร้อมอบรมวิธีการปลูกและกรีดให้ผู้ต้องขัง คาดช่วยป้องกันนักโทษกระทำผิดซ้ำได้ เหตุมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท

นายวิชัย โชติปฏิเวชกุล ผู้บัญชาการ(ผบ.)เรือนจำจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จากการศึกษาดูงานเกี่ยวกับอาชีพการเกษตรด้านสวนยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา พบว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีน่าสนใจอย่างมาก ตนจึงแนวคิดที่จะนำมาทำเป็นหลักสูตรเสริมสร้างความรู้ด้านการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเมื่อพ้นโทษไปแล้วจะมีอาชีพที่สร้างรายได้และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

โดยเบื้องต้นได้มีแผนที่จะจัดทำแปลงสาธิตปลูกยางพาราบนเนื้อที่จำนวน 5 ไร่ ในเขตของเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้เรื่องการปลูกและดูแลยางพาราอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดองค์ความรู้ด้านการปลูกยางในอนาคต เพราะพื้นที่และสภาพดินของพะเยาเหมาะสำหรับการปลูกยางพารา

ผบ.เรือนจำจังหวัดพะเยา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จังหวัดพะเยา จัดการฝึกอบรมเรื่องการปลูกและกรีดยางพาราให้แก่ผู้ต้องขัง เนื่องจากการกรีดคือการสร้างรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือ เมื่อผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วสามารถไปเป็นแรงงานรับจ้างกรีดยาง ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของสวนยางทราบว่าแรงงานกรีดจะมีการจ้างในลักษณะแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของสวนกับแรงงานรับจ้างในอัตราส่วน 60:40 หรือ50:50 หากคิดเป็นเงินเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 400 บาท เฉลี่ยรายเดือนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ซึ่งตรงนี้เป็นรายได้ที่ทำให้แรงงานกรีดยางอยู่ได้อย่างเหมาะสม

“เมื่อผู้ต้องขังที่พ้นโทษสามารถออกไปประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางมีรายได้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาทำผิดซ้ำจะไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้องค์ความรู้ด้านการปลูกและกรีดยางจะเป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังสามารถนำไปประกอบอาชีพหลังพ้นโทษได้ในระยะเร่งด่วนและในระยะยาวต่อไป”

นายวิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ต้องขังที่จะเข้าร่วมโครงการมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ เตรียมถูกส่งไปภายนอกเรือนจำ ประมาณ 20 คน และส่วนที่สองผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความประพฤติดี แต่ละปีจะมีการอบรม 1-2 ครั้ง คาดว่าจะสามารถสร้างอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษอย่างยั่งยืนประมาณปีละ 60 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น