ตราด - กลุ่มอนุรักษ์โลมาสะพานหินทำบุญขอชีวิตโลมา พร้อมจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์ และประกาศทำ “สุสานโลมา” เป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้าน ผอ.ศูนย์ทรัพยากรฯ ระยอง เผยเหตุโลมาเสียชีวิตส่วนใหญ่หากินพื้นที่ทับซ้อนจับปลาชาวประมง
วันนี้ (19 ก.พ.) ที่หาดสนสาธารณะบ้านหมู่ 5 สะพานหิน ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด นายสุชิน เพียรทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากระรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตราด เป็นประธานเปิดการทำบุญอุทิศและขอชีวิตโลมา มีนายทัด จิตสถาพร ประธานกลุ่มอนุรักษ์โลมาบ้านสะพานหินจัดขึ้น มีนานภุชงค์ สฤษฏีชัยกุล ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง นายไชยันต์ การสมเนตร ประมง จ.ตราด นายวรนิติ์ กายราศ ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด นายบุญชัย ทันสมัย ท่องเที่ยวและกีฬา จ.ตราด นายประดิษฐ์ คุ้มชนม์ นายกอบต.แหลมกลัด พร้อมชาวบ้าน ประชาชน ต.แหลมากลัด ร่วมกว่า 300 คนหลังจากทำพิธีปล่อยป้ายผ้าการทำบุญอุทิศและขอชีวิตโลมา ผู้ร่วมงานร่วมกันปล่อยปลาและหอยจำนวน 100,000 ตัวเพื่อขยายพันธุ์ในอ่าวแหลมกลัด
นายทัด กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อต่อยอดสิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์โลมา บ้านสะพานหิน ต้องการยกระดับการทำงานของกลุ่มให้เป็นที่รับรู้ในสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตโลมากำลังถูกคุกคามจากสาเหตุต่างๆ ควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์และจะมีวิธีการใดที่จะทำให้ ชีวิตดลมาอยู่รอดปลอดภัย ขณะสุสานโลมาก็จะเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกฝ่ายหรือเยาวชนได้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และดูแลดลมาให้อยู่คุ่กับทะเลตราดต่อไป ขณะที่วันนี้ จะนำเงินที่ได้รับจัดตั้งกองทุนเพื่อก่อสร้างศาลาที่จะใช้ในการเป็นสถานที่ทำงานและดูแลโลมา จากนั้นจะตั้งกองทุนอนุรักษ์โลมาขึ้นภายหลัง
ขณะที่ นายภุชงค์ กล่าวว่า โลมาในอ่าวทะเลตราดที่เสียชีวิตปัจจุบันสาเหตุใหญ่มาจากการหากินของโลมาทับซ้อนกับพื้นที่ทำประมงของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ที่มีจำนวนมากในทะเลตราด ขณะโลมาก็มีจำนวนมากเพราะสัตว์น้ำในอ่าวตราดมีความอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น เมื่อโลมามาหากินในพื้นที่วางเครื่องมือทำประมงจึงติดเครื่องมือทำประมงและเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรไม่ให้โลมาเข้ามาหากินในพื้นที่ ที่ทางศูนย์ฯ ได้มอบทุนแสดงสัญญลักษณ์ไว้ให้ติดแต่จะแก้ไขได้หรือไม่ต้องติดตามผลต่อไป
“ปัจจุบันอ่าวไทยในภาคตะวันออกพบโลมากระจายอยู่ตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเฉพาะ จ.ตราด มีความสมบูรณ์กว่าโลมาจึงมาอาศัยอยู่มาก ขณะที่วาฬบลูด้าที่เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ก็พบอยู่ในอ่าวไทยเป็นประจำ เพราะความอุดมสมบูรณ์ในอ่าวไทย แต่ทุกฝ่ายก็ควรจะอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ไว้ด้วย