กาฬสินธุ์ -รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน มอบโล่ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนถั่วตัดสมุนไพรคำแก้ว จังหวัดกาฬสินธุ์ เหตุรวมกลุ่มปลูกถั่วลิสงแปรรูป ทั้งอนุรักษ์ดินและเลือกดินเหมาะปลูกพืชฤดูแล้ง ทำให้ดินดีทั้งผลผลิตเกินคุ้ม แม้อยู่ในเขตพื้นที่พิบัติภัยแล้ง
วันนี้ (18 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่ศูนย์วิสาหกิจชุมชนถั่วตัดสมุนไพรคำแก้ว บ้านหนองแวงดง หมู่ 4 ตำบลกุดโดน อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน มอบโล่เกียรติยศให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถั่วตัดสมุนไพรคำแก้ว ที่มีผลงานปลูกถั่วลิสงคุณภาพดี มีการอนุรักษ์ดินและเลือกปลูกพืชในฤดูแล้งได้เหมาะสมกับดิน
สามารถแก้ไขปัญหาดินกรดด้วยเกษตรอินทรีย์ โดยมี นางนงนุช ศรีพุ่ม ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ นางคำแก้ว นุ่นภักดี ประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ สมาชิกกลุ่มฯ และตัวแทนเกษตรกรร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายอนุสรณ์ จันทนโรจน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า จากการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองแวงดง ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง โดยปลูกถั่วลิสง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ อายุสั้น ใช้น้ำน้อย เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถให้ผลผลิตสูงต่อไร่ ทั้งนี้กลุ่มมีความเข้มแข็ง รู้จักคัดเลือกดิน และเลือกพืชได้เหมาะสมกับดิน
ทั้งยังได้รับการตรวจวิเคราะห์ดินจากกลุ่มวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ขอนแก่น และได้รับการสนับสนุนโดโลไมล์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินกรดจากสถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ รวมทั้งมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพดินได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นพื้นที่พิบัติภัยแล้ง แต่ก็สามารถปรับปรุงคุณภาพดินให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชที่ทำการปลูก จึงได้มอบโล่รางวัลเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรอื่นๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่าง
ด้าน นางคำแก้ว นุ่นภักดี ประธานศูนย์วิสาหกิจชุมชนแปรรูปถั่วลิสง กล่าวว่า ได้รวมกลุ่มเพื่อนสมาชิกที่ว่างงานในฤดูแล้ง มาปลูกถั่วลิสงในฤดูแล้ง เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เดิมทีไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากสภาพดินไม่ดี และมีความแห้งแล้ง กระทั่งมีการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม ขอคำแนะนำจากสถานีพัฒนาที่ดินและเจ้าหน้าที่วิชาการเกษตร มีการไถกลบตอซังพืช เพื่อสร้างสารอินทรีย์ในดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุย รักษาความชุ่มชื้น และเป็นการประหยัดน้ำ
ทำให้ทุกวันนี้ มีการขยายเครือข่ายปลูกถั่วลิสงกว่า 800 ราย และได้ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ไร่ละ 700-800 กก.ที่สำคัญคือ ได้ผลผลิตจำหน่าย และมีการแปรรูปเป็นขนมถั่วตัดคำแก้ว เป็นสินค้าโอท็อปประจำชุมชน สร้างรายได้ตลอดปี