ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านรอบพื้นที่ก่อตั้งโรงปั่นไฟคลองนครเนื่องเขต แฉ กลุ่มทุนจ้องแปลงผังเมือง จากภาคเกษตร และที่อยู่อาศัย ให้กลายเป็นพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม สีม่วง ขณะพลังงานจังหวัดโบ้ยบอกชาวบ้านไม่รู้เรื่อง อ้างโครงการโผล่ขึ้นมาก่อนเข้ารับหน้าที่
วันนี้ (17 ก.พ.) นายมานัส สุนทรโชติ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 ม.1 ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท ฉะเชิงเทรา โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ขนาดกำลังการผลิต 114 เมกะวัตต์ โดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ NGV กล่าวด้วยความข้องใจสงสัยว่า ในเขตพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้เดิมทีเป็นเขตพื้นที่เกษตรกรรม และบ้านเรือนพักอาศัยของชาวบ้าน
แต่ทางบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ ได้พยายามร้องขอต่อทางราชการให้พิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ จ.ฉะเชิงเทรา ตามหนังสือเอกสารประกอบการประชุม คณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ ครั้งที่ 1/2554
โดยเอกสารดังกล่าวระบุไว้ว่า ผู้ร้องรายที่ 19 จากทั้งหมด 23 ราย ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม “อัลฟาเทคโนโพลิส” คือ บริษัท ฉะเชิงเทรา โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ได้ร้องขอให้กำหนดพื้นที่ของบริษัทจำนวน 227 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมถนนหมายเลข 304 สายสุวินทวงศ์ ระหว่าง หลัก กม.ที่ 69-70 เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) และร้องขอให้แก้ไขบัญชีแนบท้ายข้อกำหนด โรงงานลำดับที่ 88ให้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้า โดยใช้พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ หรือก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
จากเดิมในพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่สีเหลือง หรือพื้นที่ประชาชนอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย และพื้นที่ สีเขียว หรือพื้นที่ชนบท และเกษตรกรรม โดยมีเพียงบางส่วนที่เป็นพื้นที่สีม่วง หรือพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ซึ่งมีบัญชีข้อกำหนดแนบท้ายไว้ว่า ให้โรงงานหมายเลข 88 นั้นเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากลม และแสงอาทิตย์เพื่อการผลิตเท่านั้น
สำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาตินั้น ตามบัญชีแนบท้ายข้อกำหนดไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการได้
โดยเหตุผลในการร้องขอแก้ไขนั้น ทางผู้ร้องระบุว่า ทางโรงงานประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นกิจการด้านสาธารณูประโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศชาติในอนาคต สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น พร้อมอ้างถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทางบริษัท หากถูกจำกัดพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงงานให้เป็นพื้นที่สีเหลือง และสีเขียว โดยอ้างว่าสภาพความเป็นจริงของพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ความจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวนั้น ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ โดยพื้นที่ ที่กำลังถูกปรับถมนั้นยังเป็นท้องทุ่งนา และยังอยู่ใกล้ชุมชนบ้านเรือนอยู่อาศัยของชาวบ้านอีกด้วย
ขณะที่ นายวิทิต พิทยธาราธร พลังงานจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า กระบวนการอนุมัติ อีไอเอ หรือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นั้น ได้ผ่านการอนุมัติไปตั้งแต่เมื่อประมาณ กลางปี 2552 ก่อนที่ตนเองจะเข้ามารับตำแหน่ง จึงไม่ทราบว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร หลังชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ก็จะส่งหนังสือร้องเรียน การคัดค้านโครงการของชาวบ้าน ไปยังกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ กฟผ.ต่อไป
ซึ่งการที่ผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการก่อตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นอย่างมาก คือ อยู่ใกล้กับแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ของ กฟผ. พาดผ่านอยู่ใกล้แหล่งน้ำลำคลองสาธารณะ และอยู่ใกล้แหล่งพลังงาน คือ แนวท่อก๊าซ NGV