เลย-ผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว อ.เชียงคานโอดประสบปัญหาต้นทุนสูง ทั้งมะพร้าว น้ำตาล แก็ส ทุนไม่หนาอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ผลิตกลุ่มเกษตรกรเลิกไปแล้วกว่า 50 % หวั่นหากต้องเลิกขายกระทบเศรษฐกิจท้องถิ่นและบรรยากาศการท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ เพราะมะพร้าวแก้วกลายเป็นสินค้าของฝากประจำถิ่นไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านในอำเภอเชียงคาน ซึ่งผลิตมะพร้าวแก้วป้อนตลาดกำลังประสบปัญหาต้นทุนสูงอย่างหนัก ถึงแม้มะพร้าวแก้วยังขายได้ดีและขายได้ในราคาสูง ต้นทุนการผลิต ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านตลาดก็สูงตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตไม่มีกำไร หลายรายขาดทุน สภาวะปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเลิกอาชีพทำมะพร้าวขายไปแล้วเกือบ 50 %
นางประหยัด ศรีสุรัตน์ หนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตมะพร้าวแก้วในอำเภอเชียงคาน กล่าวว่าใช้บ้านเป็นสถานที่ผลิตมะพร้าวแก้วชื่อ”ติ๊กมะพร้าวแก้ว” บริเวณถนนทางเข้าแหล่งท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ บ้านน้อย ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย ทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวตั้งแต่ปี 2540 ใช้แรงงานในครอบครัวและจ้างเพื่อนบ้านและ ญาติๆ มาช่วยแต่ละวันประมาณ 3-5 คนๆละ 200-250 บาท/คน/วัน ปัจจุบันมะพร้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบต้องสั่งซื้อมาจาก จ.เพชรบูรณ์ ที่ปลูกได้ผล สมบูรณ์พอเหมาะ หากอ่อนเกินไปก็ไม่ดี
โดยซื้อมาครั้งละ 1,500 ลูก ๆ ละ 12 บาทหรือ 18,000 บาท และต้องจ่ายค่าน้ำมันรถให้อีก 1,000 บาทแก่คนมาส่งด้วย ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่มาส่งให้ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนน้ำเฮลบลู บอยส์ใส่เพื่อทำเป็นสี 3 สี ที่สวยงาม ค่าแก็ส 3ถัง/วัน ถังละ 300 บาท น้ำตาลทรายขาว กระสอบละ 25 กก.เป็นเงิน 660บาท/กระสอบ น้ำเชื่อม น้ำมันปาล์ม 625บาท/ลัง/12 กก. ค่าภาษีที่สูงรวมค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100,000บาท/เดือน
ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก สินค้าวัตถุดิบแต่ละอย่างล้วนขึ้นราคากว่า 2 เท่าตัวไปหมดแล้ว เมื่อนำรายรับมาหักกับต้นทุนค่าใช้จ่าย เหลือราว 20,000บาท/เดือนเท่านั้น เป็นผลตอบแทนที่ลดลงจากแต่ก่อนมาก และในช่วงนี้ลูกค้ามักจะบ่นว่ามะพร้าวแก้วราคาแพง
แต่ หากคิดคำนวณตามต้นทุนที่สูงแล้วไม่แพงเลย มะพร้าวแก้วเกรด เอ ขาย220 บาท/กก.เมื่อก่อนมะพร้าวลูกละ 7 บาท ขาย 150บาท ,ส่วน เกรด บี ราคา180 บาท/กก. เมื่อก่อนขาย 120 บาท
ส่วนพื้นที่ จ.เลย ปลูกมะพร้าวไม่ได้ผลสมบูรณ์ ต้องสั่งซื้อจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ต้นทุนสูง บางช่วงต้องซื้อในราคาลูกละ 15 บาท
นางประหยัดกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้เองร้านค้ามะพร้าวแก้วของเกษตรกรต้องเลิกขายไปจำนวนมากทนภาระต้นทุนสูงไม่ไหว อยากให้ภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นช่วยด้านวัตถุดิบมาป้อนด้วย หรือหากเป็นไปได้ลดราคาสินค้าที่จำเป็นลง การทำมะพร้าวแก้ว นอกจากเป็นการส่งเสริมรายได้อาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นอีกด้วยเพราะตอนนี้ได้กลายเป็นสินค้าของฝากขึ้นชื่อของแก่งคุดคู้ อ.เชียงคานไปแล้ว หากผู้ผลิตเลิกกันไปมากกว่านี้ เชื่อว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวอำเภอเชียงคานแน่นอน