อุตรดิตถ์ - “เขื่อนสิริกิติ์” ออกหน้าให้ความมั่นใจกับเกษตรกรลุ่มน้ำน่าน แล้งปีนี้ไม่ขาดน้ำอย่างแน่นอน หลังวัดระดับน้ำต้นทุนแล้วมีกว่า 6 พันล้าน ลบ.ม.
นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์-ฝ่ายปฏิบัติการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแผนการปล่อยระบายน้ำในฤดูแล้งปีนี้ว่า ปัจจุบันระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ที่ระดับ 149.47 เมตร รทก.หรือ 68.71% ของอ่างเก็บน้ำ
สำหรับฤดูแล้งปีนี้ขอให้ความมั่นใจต่้อพี่น้องเกษตรกรและผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านว่า จากปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีอยู่ปัจจุบันประมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม. สามารถปล่อยเพื่อใช้ในการชลประทาน การทำนาปรัง การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตามแผนของกรมชลทานอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม น้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และรู้คุณค่า ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น จะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนได้ และยิ่งสภาวะอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะส่งผลให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำนั้นเป็นไปได้ยากอีกด้วย ซึ่งจะมีผลกระทบและอาจเกิดสถานการณ์ภัยแล้งตามมาได้
สำหรับแผนการระบายน้ำเป็นแผนของกรมชลประทานที่ได้วางแผนจัดสรรน้ำ ตามลำดับความสำคัญ คือ เพื่อเกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และอุตสาหกรรม โดยกรมชลประทานจะเป็นผู้กำหนดแผนการระบายน้ำให้ กฟผ.เพื่อระบายน้ำในแต่ละเดือน
การระบายน้ำ เพื่อใช้ในภาคการเกษตรการทำนาปรังในช่วงแล้ง จะมีแผนการระบายน้ำที่เหมือนกันทุกปี คือจากเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะปล่อยระบายน้ำ ประมาณวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. พอเข้าเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝนจะเริ่มลดระบายน้ำลง และจะเริ่มเก็บกักน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในปีต่อไป เรื่องเหล่านี้กรมชลประทาน และกฟผ.ต้องหารือร่วมกัน มีการปรับแผนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ทั้งนี้ เขื่อนสิริกิติ์เองมีแผนร่วมกับกรมชลประทาน และประมงจังหวัด ในการชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์น้ำ การปล่อยระบายน้ำ และพื้นที่การทำนาปรัง ให้แก่กลุ่มผู้นำชุมชน เกษตรกรผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังท้ายเขื่อน เพื่อรับทราบข้อมูลการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำน่าน เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน