ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เริ่มแล้ว “คอบร้าโกลด์ 11” สมาชิก 7 ชาติเข้าร่วม มีมาเลเซียเป็นน้องใหม่ เน้นหนักทั้งการฝึกยุทธวิธี พร้อมทำโครงการช่วยเหลือประชาชน “ก่อสร้าง-การแพทย์” ควบคู่ ด้าน รอง ผบ.สส.ชี้ อย่าดึงไปโยงปัญหาชายแดนไทย-เขมร เพราะวางแผนฝึกล่วงหน้าก่อนนานแล้ว
วันนี้ (7 ก.พ. ) พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมกับ นางจูดิธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 11 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากสถานทูตญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน
การฝึกในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 30 และจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-18 ก.พ.2554 มีประเทศเข้าร่วมการฝึกทั้งสิ้น 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ที่เข้าร่วมการฝึกเป็นปีแรก รวมกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกทั้งสิ้น 9,536 นาย โดยการฝึกในภาคสนามจะจัดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ที่จังหวัดลพบุรี สุโขทัย นครราชสีมา ชลบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ กองกำลังผสมนานาชาติที่จะจัดตั้งขึ้นจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการฝึกทั้ง 7 ประเทศ มี พลโท ธงชัย เทพารักษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมนานาชาติ และมีพลโท Kenneth Glueck Jr.ผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโญธินสหรัฐอเมริกา โพ้นทะเลที่ 3 เป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังผสมนานาชาติ
นอกจากการฝึกปฏิบัติการทางยุทธวิธีแล้ว การฝึกคอบร้าโกลด์ 11 ยังมีการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตามนโยบายที่ให้ความสำคัญในด้านการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่สงคราม ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ ในปี พ.ศ. 2547 โดยในครั้งนี้จะมีการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการก่อสร้างและด้านการแพทย์ ร่วม 17 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง พิจิตร ขอนแก่น ระยอง และจันทบุรี
พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวงถึงการฝึกคอบร้าโกลด์ 11 ว่า เป็นการประสานการปฏิบัติการของทหารประเทศสมาชิกในระดับพหุพาคี เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือเพื่อการให้ความช่วยเหลือ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ และการพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย ซึ่งในปีนี้ถือเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศมาเลเซียได้เข้าร่วมในการฝึกเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการฝึก ว่า ไม่อยากให้มองว่าการฝึกเป็นการแสดงออกหรือส่งสัญญาณกดดันไปถึงปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดน เนื่องจากแผนการฝึกได้มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว และในการฝึกก็ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือใช้พื้นที่ใกล้เคียงกับจุดที่มีปัญหาแต่อย่างใด
ขณะที่ นางจูดิธ เซฟคิน อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวด้วยว่า สหรัฐอเมริกาได้จับตาดูสถานการณ์ความาขัดแย้งตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้นั้น คงต้องมาจากการพูดคุยกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในขณะนี้ทั้งไทยและกัมพูชาก็มีการพูดคุยเจรจากันอย่างต่อเนื่องโดยตลอดอยู่แล้ว