ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม็อบเกษตรเชียงใหม่ บุกศาลากลาง ยื่นหนังสือเร่งแก้ปัญหาหนี้ ย้ำ ต้องใช้แนวทาง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ หลังแผน รบ.ใช้ “คลัง-ธนาคาร” แก้ปัญหาไม่คืบ เผยทำพร้อมกันทั้งประเทศ ประกาศรอถึง 13 ก.พ.ไม่ได้คำตอบเข้ากรุงแน่
เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ ในนามของเครือข่ายองค์กรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ เดินทางมาชุมนุมที่หน้าศาลากลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วันนี้ (1 ก.พ.) เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมี หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รับมอบ
การชุมนุมซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติแผนแม่บทกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยใช้แนวทางของ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544 ตามแผนแม่บทกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 5 ปี ระหว่างปี 2555-2559
ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร แต่ปรากฏว่าแผนงานดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขัดกับข้อกฎหมายของสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้อยู่ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่กลุ่มเกษตรกรมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการตามแนวทางของกองทุนฟื้นฟูฯ มากกว่า โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มเกษตรกรส่วนหนึ่งเดินทางไปชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
สำหรับรายละเอียดในข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรที่เสนอต่อรัฐบาล ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเรื่องปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในสองส่วน ได้แก่การจัดสรรงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ในรูปแบบงบประมาณผูกพัน 5 ปี เพื่อนำมาจัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และจัดสรรงบประมาณอีก 7 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบงบประมาณผูกพัน 5 ปี เพื่อเป็นเงินทุนฟื้นฟูอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกร
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ประกาศว่า จะรอฟังคำตอบจากทางรัฐบาล โดยจะให้เวลาจนถึงวันที่ 13 ก.พ.2554 หากไม่มีความคืบหน้า เกษตรกรจากทั่วประเทศจะเดินทางเข้าไปชุมนุมขอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 ก.พ.
นายดวงทิพย์ ต๊ะวนา รองประธานอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาล งบประมาณที่เรียกร้องไปนั้นไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับงบประมาณในส่วนอื่นๆ ขณะที่เกษตรกรประสบปัญหาด้านหนี้สินมาตลอดโดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งแนวทางตาม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ก็เป็นวิธีการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีอยู่แล้ว ต่างกับแนวทางของรัฐบาลที่ให้กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินมาแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ
นายดวงทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของเกษตรกรพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และ แพร่ จะเดินทางมาชุมนุมเพื่อรอฟังคำตอบจากทางรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถ้าไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจก็จะเคลื่อนขบวนลงไปสมทบกับเกษตรกรจากภาคอื่นๆ ที่กรุงเทพฯ ต่อไป