ระยอง - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานผลิตเส้นใย โครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงที่ระยอง
วันนี้ (21 ม.ค.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ติดตามความคืบหน้าโรงงานไฟฟ้า เก็คโค่-วัน จำกัด และ บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า วันนี้เดินทางมาตรวจโรงงานผลิตไฟฟ้า เก็คโค่-วัน เป็น 1 ใน 11 โครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเกิน 100 เมกะวัตต์ มีการอนุญาตให้ก่อสร้างภายหลังรัฐธรรมนูญ 50 ส่วน โรงงาน ทีโอซี ไกลคอล อยู่ติดท้ายคำฟ้อง 1 ใน 76 โครงการ และถูกประกาศให้เป็น 1 ในประเภทกิจการรุนแรง เกี่ยวกับปิโตรเคมีขั้นกลาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างส่วนขยายเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างระงับโดยคำสั่งศาล วันนี้เข้ามาตรวจสอบ (HIA ,EHIA) คาดว่า จะรุนแรงทั้ง 2 โรงงาน
นายชัยวุฒิ กล่าวหลังเข้าตรวจภายในโรงงานว่ามีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบบน้ำที่ไหลลงทะเล ฝุ่นถ่านหิน อากาศ และท่อน้ำทิ้ง ฯลฯ ส่วน ทีโอซี ไกลคอล เป็นเรื่องสารเคมี สิ่งที่หลายคนเป็นห่วง เรื่อง สารไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOX) สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SOX) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC)
สำหรับ สารไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขณะนี้สถานการณ์ใน จ.ระยอง นับว่าอยู่ในขั้นที่ใช้ได้ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานทุกฝ่ายยอมรับ แต่ที่ทุกคนเป็นห่วงคือสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) ซึ่งโรงงาน ทีโอซี ไกลคอล มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย แต่ไม่มาก ก็ต้องเข้าตรวจสอบและเข้ามาตรวจวัดเอง ตรวจสอบระบบการจัดการควบคุม ระบบป้องกันและระบบออนไลน์
นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า มั่นใจว่า น่าจะดีขึ้น เป้าหมายไม่ว่าโรงงานประเภทไหนปริมาณสารไนโตรเจนไดออกไซด์ สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในพื้นที่ จ.ระยอง ต้องลดลงมาเรื่อยๆหมายความว่าโรงงานเก่าที่จะขยายโรงงานใหม่ ต้องลดของเก่าให้ได้ ขยายใหม่รวมกับโรงเก่าก็ต้องไม่มากกว่าเดิม ในอดีตที่ผ่านมาปริมาณสารไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีปริมาณสูงน่าเป็นห่วง แต่หลังใช้ระบบ 80-20 ทำให้ปรืมาณสารดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานส่วน สารอินทรีย์ระเหยที่ค่อนข้างจะสูงกว่ามาตรฐาน จึงต้องพยายามเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ประกอบการร่วมมือกันอย่างเต็มที่
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่าจากการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในส่วนกิจการใหม่ที่จะขอรับการส่งเสริม ถ้าไม่มีเทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษ ก็จะไม่มีการส่งเสริม ถ้ามีเทคโนโลยีในการกำจัดมลพิษ เป็นหน้าที่โดยตรงของ บีโอไอ ที่ต้องให้การส่งเสริมอยู่แล้ว และกิจการเดิมที่มีอยู่ ปริมาณสารไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และ สารอินทรีย์ระเหยง่าย ที่ได้มาตรฐานอยู่แล้วแต่ต้องการเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อให้ลดมลพิษ บีโอไอจะให้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มในส่วนที่นำเทคโนโลยี่เข้ามาพัฒนากิจการเดิมให้ลดมลพิษ
มาตรการในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ของ กนอ.ศูนย์เฝ้าระวัง และควบคุมคุรภาพสิ่งแวดล้อม นับว่า มีความเข้มมากขึ้น ในเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ เสียง และการจราจรภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน มีการรายงานผลในทันทีแบบเรียลไทม์
ด้าน นางมณฑา ผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยว่า การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน จัดตั้งศูนย์กระจายข่าวด่วนในการรายงานหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ชุมชนได้รับทราบทันต่อเหตุการณ์