ลำปาง - นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดผลวิจัยฝุ่นควันพิษ 5 จังหวัดภาคเหนือ เตือนชุมชนนอกเมืองเสี่ยงเป็นมะเร็งสูง หลังเจอควันสะสมนาน
นายอุทาร ชวเมธี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานเปิดการ สัมมนาขยายผลการวิจัย มลพิษหมอกควันกับสุขภาพของคนในภาคเหนือตอนบน ที่ศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อ 18 ม.ค.54 หลังจากที่พบว่ามีการเผาในที่โล่งในชุมชนนอกเมือง มากกว่าชุมชนในเมือง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องมลพิษในภาคเหนือ สร้างความศูนย์เสียทางด้านเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชน ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ปีแล้ว
นางสาวธัญภรณ์ เกิดน้อย นักวิจัยศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันสุขบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และพบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูง ซึ่งอาจจะทำให้สุ่มเสียงต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ได้
ดั้งนั้น เมื่อต้นปี 2552 เป็นต้นมาจึงได้จัดโครงการวิจัย เรื่อง การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสอนุภาคฝุ่นในอากาศในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยขึ้น ซึ่งพบว่า จากการวิจัยใน 5 จังหวัดภาคเหนือ
ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ในเขตพื้นที่เมืองทั้ง 5 จังหวัด ยังไม่มีความรุนแรงเท่าพื้นที่นอกเมือง ที่ประชาชนจะได้รับมลพิษฝุ่นและสารพิษบนฝุ่นปริมาณน้อย ๆ แต่มีระยะเวลานาน เป็นการสัมผัสเรื้อรัง ทำให้มีการสะสมของสารพิษ โดยเฉพาะกลุ่มสารพีเอเอช สารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้
จากการสุ่มตรวจตัวอย่างนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน 938 คน โดยการตรวจสุขภาพและตรวจปัสสาวะพบว่ามีสารตั้งต้นที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคนเหล่านี้คือ กลุ่มสารพอลีไซคลิกอะไรมาติกไฮโดรค์บอน หรือ สารพีเอเอช ( ZPAHs ) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้สารอินทรีย์ที่ไม่สมบูรณ์ แต่ยังไม่มีปริมาณที่เป็นอันตราย เพราะยังไม่มีการวิจัยที่ออกมาอย่างชัดเจนว่าสารพีเอเอช ปริมาณขนาดไหนถึงจะเป็นอันตราย แต่หากสะสมในร่างกายนานๆจะมากขึ้นและเป็นอันตรายก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะตามมาจึงได้มีการจัดสัมมนานี้ขึ้นเพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงและประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในการลดการเผา หรือรณรงค์การลด งดการเผาในที่โล่งต่อไป