เลย- ยอดขายรถยนต์เมืองเลยพุ่งกว่าเท่าตัว หลังจากชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการขายพืชผลทางการเกษตรได้ราคาดี ประกอบกับเงินสะพัดจากการท่องเที่ยวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวแห่เที่ยวเมืองเลย เฉลี่ยวันละ 6 หมื่นคน ส่งผลต่อกำลังซื้อชาวบ้านมีมากขึ้น
นายเกรียงศักดิ์ ตันกิจเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ใน จ.เลย บริษัท มิตซูเลย พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมาจนเข้าสู่ต้นปี 2554 เฉพาะโชว์รูมของตนมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่า 100% หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ซื้อมีอายุเฉลี่ยประมาณ 30-40 ปี ต่างจากในอดีตคนที่จะซื้อรถมีอายุมากกว่านี้ โดยเก็บเงินที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรมาตลอดเกือบทั้งชีวิตกว่าจะออกรถคันใหม่ได้
ปัจจุบันกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์โดยมากจะเป็นคนหนุ่มอายุไม่มากนัก บางคนก็ซื้อรถเป็นคันที่สองเก็บไว้ใช้ในภารกิจที่ต่างกัน ตั้งแต่ที่ตนมาทำธุรกิจรถยนต์ ก็เพิ่งเคยเห็นปีที่ผ่านมา ที่ยอดขายพุ่งขึ้นสูงสุด ทั้งนี้ เป็นเพราะในรอบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของ จ.เลย ดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรหลักทั้ง 4 ชนิดมีราคาดี คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ได้ผลผลิตอย่างดี เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
โดยเฉพาะยางพารา กลายเป็นพืชหลักอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน ปัจจุบันมีราคากิโลกรัมละ 145-160 บาท
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากรายได้จากการท่องเที่ยวภายในจังหวัด ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 60,000 คน รวมทั้งปีมากถึง 1.3 ล้านคน จากปี 2552 มีเพียงประมาณ 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 30% มีเม็ดเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวในจังหวัดราวปีละ 1,500 ล้านบาท โดยเฉพาะที่ อ.เชียงคาน ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้อำเภออื่นๆ พลอยได้รับอานิสงส์นี้ด้วย รายได้จึงกระจายไปสู่ประชาชนทุกภาคส่วน
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจของจ.เลย ในช่วงนี้ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจยั่งยืน มั่นคง เพราะหวั่นว่าจะเป็นฟองสบู่ เกษตรกร หรือชาวบ้าน ใช้จ่ายเกินตัว อาจเกิดหนี้เสียขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณลงมาพัฒนาด้านถนนหนทาง ความสะอาด สัญญาณจราจร ป้ายต่างๆ ทั้งในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานควรมีให้ครบ รวมถึงการบังคับใช้กฎจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย การอนุรักษ์ซ่อมแซมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเดิมและเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาที่พัก ร้านอาหาร ให้มากขึ้นเพื่อ รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พัฒนาเพิ่มทักษะความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการควรมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมการตลาดร่วมกัน
“การบริหารการจัดการและบริการด้านการท่องเที่ยวต้องมีคุณภาพ มีความปลอดภัย ที่สำคัญเมื่อเห็นว่านักท่องเที่ยวเข้ามามากก็อย่าฉกฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ ต้องให้บริการด้วยราคาที่เป็นธรรมเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ให้กลับมาเที่ยวซ้ำหรือบอกกล่าวปากต่อปาก หากทำกันได้อย่างนี้จะทำให้การขายการท่องเที่ยวเมืองเลยมีความยั่งยืน” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว