ASTV ผู้จัดการออนไลน์-CPF ขยายโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันให้ครบ 500 โรงเรียนภายใน 3 ปี พร้อมหนุน “ขยะแลกไข่ไก่ในโรงเรียน” ช่วยเด็กได้กินไข่แม้ช่วงปิดเทอม
นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว 320 แห่ง ล่าสุดตั้งเป้าขยายให้ครบ 500 แห่งภายในปี 2556 พร้อมเตรียมต่อยอดด้วย “กิจกรรมขยะแลกไข่ไก่ในโรงเรียน” เพื่อกระตุ้นให้เด็กนักเรียนเกิดจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการรับประทานไข่ไก่ทุกวัน แม้ในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม
“การนำขยะที่บ้านมาแลกไข่ไก่ที่โรงเรียน จะทำให้เด็กๆ ได้กินไข่ทุกวัน แม้ในช่วงเสาร์อาทิตย์หรือปิดเทอม กิจกรรมนี้จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ โดยนำร่องในโรงเรียน 4 แห่ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ โรงเรียนบ้านโคกสูง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงเรียนพรหมบุรี จ.สิงหบุรี และอีก 2 ภาคอยู่ระหว่างการคัดเลือก เชื่อว่านอกจากจะช่วยให้เด็กได้รับโปรตีนอย่างเต็มที่แล้ว กิจกรรมนี้ยังสามารถสร้างจิตสำนึกในการช่วยลดโลกร้อนให้เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนได้เป็นอย่างดี” นายสุปรีกล่าว และว่า โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนได้รับความสนใจจากโรงเรียนต่างๆ ขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก โดยในต้นปีนี้มีโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาดำเนินโครงการแล้ว 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน ตชด.ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์ไทยอนุสรณ์ 1 และ 2, โรงเรียน ตชด.บ้านศรีสวัสดิ์, โรงเรียนอนุกูลวิทยา (บ้านดอนแก้ว), โรงเรียนบ้านแม่กุหลวง, โรงเรียนสวัสดีวิทยา, โรงเรียนบ้านนาคำน้อย 1, โรงเรียนบ้านฝายพญานาค, โรงเรียนจุฬาราษฎร์วิทยา และโรงเรียนบ้านบุสูง
ปัจจุบันยังคงมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่ง ตลอดจน NGO ต่างๆ ที่มีงบประมาณสนับสนุน แต่ขาดแคลนบุคลากรผู้ลงมือทำ ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการด้วยอย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิฯ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดำเนินโครงการฯ จะร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯ ของแต่ละโรงเรียน และเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมาย 500 แห่งภายในปี 2556 ได้แน่นอน
ทั้งนี้ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนประสบความสำเร็จในหลายด้านทั้งในเชิงปริมาณที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ส่วนในเชิงคุณภาพก็พบว่ามีโรงเรียนที่ดำเนินโครงการเป็นตัวอย่างหรือแหล่งเรียนรู้แก่สถานศึกษาอื่นๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 20% โดยโรงเรียนเหล่านี้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ได้แก่ การคิดต้นทุน การคำนวณผลผลิต การหาตลาดรองรับ ไปประยุกต์ใช้กับโครงการเกษตรอื่นๆ เช่น การปลูกพืช การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลา เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละโรงเรียนยังสามารถจัดตั้งกองทุนอาหารกลางวันนักเรียน เฉลี่ยโรงเรียนละ 1-2 แสนบาท ไว้เป็นกลไกการพัฒนาระดับโรงเรียนได้อย่างยั่งยืน กล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นการหยิบยื่นโอกาสเข้าถึงการมีสุขภาพดีควบคู่กับการมีความรู้และฝึกทักษะในการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานอาชีพแก่เยาวชนต่อไป