แพร่ - พ่อค้าคนกลางยื่นคำขาดซื้อได้เพียง กก.ละ 10 บาทสูงสุดและต้องนำพริกมาส่งที่ศูนย์รวมเองไม่ไปรับในแปลงปลูก องค์กรท้องถิ่นต้องยื่นมือช่วยเป็นผู้ประสานงานโรงงานใน กทม.มารับซื้อโดยตรง ด้านเกษตรกรหันมารวมตัวงดขายพริกให้พ่อค้าคนกลางฐานกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า หลังจากที่ เกษตรกรผู้ปลูกพริกสดใน อ.หนองม่วงไข่จำนวน 200 คนรวมตัวกันที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ตลาดเสรีไทย อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ เพื่อเรียกร้องให้ทางราชการยื่นมือช่วยเจรจาพ่อค้าคนกลางเพื่อให้รับซื้อพริกสดในราคากิโลกรัมละ 12 บาท ในขณะที่พ่อค้าคนกลางรายใหญ่ๆ ที่เข้ามารับซื้อมีจำนวน 4 รายรวมหัวกันกดราคาโดยหลังเทศกาลปีใหม่มีการลดราคารับซื้อผลผลิตพริกสดลงมาเหลือราคาเพียง กก.ละ 7-9 บาทเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาเกษตรกรได้เจรจากับพ่อค้าคนกลางมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่เป็นผล ซึ่งหลังเทศกาลปีใหม่เกษตรกรได้ออกมาเรียกร้องอีกครั้ง
นายขจร ธรรมไชยยางกูร นายกเทศมนตรีตำบลหนองม่วงไข่ ได้อาสาเข้ามาให้การช่วยเหลือชาวบ้านโดย เทศบาลจะตั้งจุดรับซื้อโดยติดต่อโรงงานแปรรูปพริกใน กทม.อย่างน้อย 3 บริษัทเข้ามารับซื้อโดยตรง แต่รับได้ในราคา 11 บาทเท่านั้น ส่วนผลผลิตเกษตรกรให้นำมารวมกันและรถของเทศบาลจะเข้าไปรับ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่พริกถูกกดราคา ผลการยื่นมือมาช่วยเหลือชาวบ้านพอใจโดยนายประทีป แดงแสน ประธานกลุ่มผู้ปลูกพริกหนองม่วงไข่ ได้เชิญชวนสมาชิกให้งดจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางที่กดราคาและหันมาจำหน่วยให้กับโรงงานที่จะเข้ามารับซื้อโดยตรงผ่านเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ติดต่อเข้ามา
ผลของการออกมาประท้วงทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาร่วมเจรจา โดยทางอำเภอหนองม่วงไข่ส่งนางสิริลักษณ์ ภูมินทร์ เกษตรตำบลหนองม่วงไข่ นายณฐภณ เพ็ชรโก กำนันตำบลหนองม่วงไข่ร่วมเจรจา ซึ่งได้แต่งตั้งให้นายสงกรานต์ จันทราภานุกร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ เป็นตัวแทนไปเจรจากับพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้รับซื้อในราคา 12 บาท ต่อ กิโลกรัม แต่ผลการเจรจาไม่เป็นผล พ่อค้ายังยืนยันไม่เพิ่มราคารับซื้ออย่างแน่นอน โดยระบุว่าโรงงานแปรรูปพริกใน กทม.รับซื้อกิโลกรัมละ 14 บาทเท่านั้น ทางผู้รับซื้อต้องได้ 4 บาทต่อกิโลกรัมจึงจะอยู่ได้
อนึ่ง เกษตรกรผู้ปลูกพริกสดใน อ.หนองม่วงไข่ มีพื้นที่ปลูกพริกจำนวน 1,600 ไร่ เกษตรกรจำนวน 1,000 ครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน ที่ผ่านมาพริกสดเคยจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 14-15 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีทำให้มีการปลูกอย่างต่อเนื่องและมีพื้นที่ปลูกมากขึ้นแต่หลังสิ้นปี 2553 กลุ่มพ่อค้าคนกลางถือโอกาสที่เกษตรกรหยุดเก็บพริกฉลองปีใหม่ทำให้มีผลิกสดแก่จัดออกมากถ้าไม่จำหน่ายจะทำให้เน่าเสีย เป็นสาเหตุของการกดราคา