แพร่ - ภูมิใจไทยหมดลายดูดนักการเมืองแพร่ ได้เพียงอดีตครูเกษียณ-รองนายก อบจ.แพร่ ทีม “อนุวัธ วงศ์วรรณ”ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 1 เพียงคนเดียว เผยสนามเลือกตั้งเมืองแพร่ เครือข่ายหัวคะแนนทรงอิทธิพลสูงสุด ถูกเพื่อไทยตรึงแน่นทุกอำเภอ
การรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขต ของจังหวัดแพร่ วันสุดท้ายวันนี้(28 พ.ค.54) ปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 16 ส่งนักการเมืองลงสมัครสนามเลือกตั้งจังหวัดแพร่ เพียงคนเดียวคือ นายเนาวรัตน์ คณะนัย อดีตรองนายก อบจ.แพร่ โดยระบุลงเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 ในเขตตัวเมืองแพร่และ อ.สูงเม่น(บางส่วน)
สำหรับนายเนาวรัตน์ เป็นอดีตข้าราชการครูเกษียณ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดและโรงเรียนมัธยมประจำอำเภออีกหลายแห่ง ต่อมาได้รับการชักชวนให้มาทำงานด้านการศึกษาในองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ สมัยนายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย เป็นนายก อบจ.แพร่ และต่อมาได้ร่วมทีมกับนายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่คนปัจจุบัน ได้เป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองนายก อบจ.แพร่ ก่อนลาออกมาสมัครลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ ถือเป็นผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่สมัยแรก
นายเนาวรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า การเมืองในประเทศไทยมีปัญหาหนักมาก มีเพื่อนครูและประชาชนในจังหวัดแพร่เรียกร้องให้ตนลงมาสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้เห็นว่า คนที่เป็น ส.ส.ควรใกล้ชิดประชาชนและรับทราบปัญหาของประชาชนเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ส่วนจะเข้าไปเป็นส.ส.ได้แล้วจะทำอะไร ประการแรกคือการให้เวลาใกล้ชิดประชาชนให้มากที่สุด การจะปฏิรูปการเมืองและทำให้การเมืองดีขึ้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่คงต้องดูคนส่วนใหญ่จะเอาอย่างไร ดังนั้นการช่วยเหลือประชาชนจึงต้องทำก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดแพร่ พอจะเห็นผู้สมัครครบแล้วว่ามีใครบ้างคือ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 10 เขต.1 นายพงศ์สวัสดิ์ ศุภศิริ เขต 2 นางศุภวัลย์ ศุภศิริ เขต 3 นายประสงค์ ชุ่มเชย ,พรรคเพื่อไทย เบอร์ 1 เขต 1 นางปานหทัย เสรีรักษ์ เขต 2 นายแพทย์นิยม วิวรรธนดิษฐกุล เขต 3 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน เบอร์2 เขต 1 นางโสภิตตา หมายมั่น เขต 2 นายสมคิด อริยะ เขต 3 นายทัพพ์ แสนหลวงอินทร์ ,พรรคเพื่อประชาชนไทย เบอร์ 29 เขต 1 นางดาราวัลย์ อินทราทิพย์ ,พรรคเพื่อฟ้าดิน เบอร์ 18 เขต 3 นายอำนวย คลี่ใบ และ พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 16 เขต 1 นายเนาวรัตน์ คณะนัย รวมพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในจังหวัดแพร่ 6 พรรคการเมือง ผู้สมัครจำนวน 12 คน
ส่วนการออกหาเสียงแม้ว่า พ.ต.อ.ดนัย เลขาวิจิตร ประธาน กกต.จังหวัดแพร่ จะให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า จะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในจังหวัดแพร่อย่างเด็ดขาดเพราะมีการหารือร่วมกันแล้วทั้งผู้สมัครทุกพรรคการเมืองและเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตามการหาเสียงของพรรคการเมืองจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทยยังสามารถกุมสภาพกระแสนิยมและการสร้างเครือข่ายผู้นำท้องถิ่นให้อยู่ในข่ายหัวคะแนนของตนเองได้มากที่สุด
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น เรียกได้ว่ายังไม่สามารถหาหัวคะแนนได้ตามที่ต้องการ มีการเข้าหาตัวทำงานการหาเสียงในชุมชน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ หรือถ้าไม่ปฏิเสธอาจต้องเป็นหัวคะแนนให้กับสองพรรคการเมืองใหญ่ด้วยความเกรงใจ เชื่อว่าในสัปดาห์แรกของการหาเสียงการจับมือกับผู้นำและหาทางให้ผู้นำในชุมชนได้เป็นหัวคะแนนจะมีแนวโน้มแย่งชิงมวลชนสูงมาก
ขณะที่พรรคการเมืองเล็กๆ ที่ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.ในจังหวัดแพร่ ค่อนข้างหมดโอกาสที่จะใช้ผู้นำท้องถิ่นเข้ามาเป็นหัวคะแนนได้ แม้แต่พรรคภูมิใจไทยก็ไม่สามารถที่จะกุมสภาพของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน หรือ นายก อบต.ในจังหวัดแพร่ไว้ได้เลย ผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทยจึงต้องใช้ชื่อเสียงส่วนตัวและฐานการเมืองในสังกัดคือ กลุ่มนักการเมืองที่บริหาร อบจ.แพร่ อยู่ทุกวันนี้เป็นฐานคะแนนสำคัญ