xs
xsm
sm
md
lg

โวยป่าไม้ตากดองเค็มแผนทำอ่างเก็บน้ำสู้แล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก – ชาวตำบลโป่งแดงเมืองตากฝันสลาย หลังโครงการทำอ่างเก็บน้ำแก้ภัยแล้ง ถูกป่าไม้ดองเค็มมาตั้งแต่ปี 49 อ้างเป็นพื้นที่ป่า


รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดตาก ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหนัก ขณะที่นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประกาศให้พื้นที่ทั้ง 9 อำเภอ( อ.เมือง-แม่สอด-สามเงา-บ้านตาก-วังเจ้า-แม่ระมาด-ท่าสองยาง-พบพระ-และ อ.อุ้มผาง) เป็นพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้งแล้ว

แต่ที่ตำบลโป่งแดง อ.เมืองตาก จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งที่รุนแรงพื้นที่หนึ่งกลับต้องพบกับปัญหาใหญ่ โดยนายไพฑูรย์ เฟืองดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)โป่งแดง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ได้ออกมาชี้แจงถึงปัญหาและผลกระทบจากภัยแล้งในขณะนี้ ว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 จ.ตาก ได้สั่งให้ทาง อบต.ระงับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อบต.โป่งแดง ทั้งหมด 4 หมู่บ้าน จากพื้นที่ทั้งหมด 6 หมู่บ้าน

โดยอ้างว่า พื้นที่ดำเนินการด้านชลประทาน เป็นพื้นที่ป่าสงวน ขณะที่ทาง อบต.ได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งที่ระหว่างการรอคอยเพื่อดำเนินการ ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำอุปโภค - บริโภคมาโดยตลอด ทั้ง 4 หมู่บ้าน

การสั่งระงับไม่ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ดังกล่าว ทำให้ผู้รับเหมาของอบต.ต้องหยุดปฏิบัติงานโดยทิ้งเครื่องจักรกลไว้ในพื้นที่

รายงานข่างแจ้งว่า ตำบลโป่งแดง เป็นพื้นที่อยู่ท้ายเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา มีพื้นที่ทำการเกษตร 150,236.88 ไร่ ประชาชน 2,502 ครัวเรือน โดยอบต.กำลังเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการสร้างฝายกั้นน้ำ และอ่างเก็บเป็นตำบลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุดในจังหวัดตาก ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำที่ถูกระงับไป อยู่ในพื้นที่บ้านสระบัว , บ้านลานห้วยเดื่อ , บ้านตะลุกป่าตาล และบ้านชะลาดระฆัง

ส่วนพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องประสบปัญหาเรื่องอ่างเก็บน้ำสู้ภัยแล้ง แต่เป็นไปในลักษณะน้ำในอ่างลดระดับลงอย่างน่าใจหาย โดยนายพิษณุ ชอบประดิษฐ์ หัวหน้าโครงการชลประทานที่ 3 อ่างเก็บน้ำชลประทานบ้านหัวฝาย ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก บอกว่า อ่างเก็บน้ำหัวฝาย มีปริมาณจุน้ำได้ 5.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช่วงฤดูแล้งนี้ปริมาณน้ำได้ลดระดับลงเหลือประมาณ 700,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น แต่โชคดีที่เป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตแล้ว ทำให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อนมากนัก

กำลังโหลดความคิดเห็น