xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีศาสตร์สรุปเหตุแผ่นดินทรุดที่เมืองกาญจน์ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - นักธรณีศาสตร์ สรุปเหตุแผ่นดินทรุดที่ที่บ้านของ นายพลอย พันธุ์แก้ว บ้านโป่งเสี้ยว ตำบลวังเย็น เมืองกาญจน์ เป็นเพราะการเป่าบ่อบาดาล ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (18 มี.ค.) ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตจังหวัดกาญจนบุรี ได้ข้อสรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุเกิดแผ่นดินทรุด ที่บ้านของนายพลอย พันธุ์แก้ว บ้านโป่งเสี้ยว ต.วังเย็น อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล เปิดเผยว่า ผลการสำรวจตรวจสอบพื้นที่และการตรวจวัดชั้นธรณีใต้ดินด้วยเครื่องหยั่งธรณี จีพีอาร์ ซึ่งสดคล้องกันกับข้อมูลระดับลึกบริเวณแผ่นดินทรุด ที่บริเวณบ้านของลุงพลอย โดยระดับลึกบริเวณจากพื้นผิวถึงที่ 15 เมตร 2 แนวตั้งฉากกัน แนวแรกคือ แนวตะวันตก-ตะวันออก (โดยประมาณ) เป็นแนวที่ลากผ่านรอยแตกใหญ่ทอดต่อไปท่งไร่อ้อย แนวที่สองคือแนวเหนือ-ใต้ (โดยประมาณ) ทิศเหนืออยู่ระหว่างบ่อน้ำกับตัวบ้าน ทิศใต้อยู่ใต้ต้นมะขามไปทางถนนหลวง

จากการตรวจสอบ ปรากฏว่า แนวตะวันตก-ตะวันออกนั้น ได้แสดงลักษณะของการทรุดตัวของแผ่นดินอย่างชัดเจน โดยมีรอยร้าวที่อยู่กลางแอ่งทรุดตัวค่อนข้างถี่ และระนาบของชั้นตะกอนถูกรบกวนมากกว่าส่วนอื่น ส่วนแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ มีรูปแบบการแตกรอยแตกแบบเดียวกัน แต่ความถี่นั้นน้อยกว่า

การตรวจสอบครั้งนี้เราได้ข้อมูลค่อนข้างที่ชัดเจนว่า การทรุดตัวของแผ่นดินคราวนี้เป็นผลกระทบโดยตรงจากการใช้น้ำบาดาล การล้างบ่อ เป่าบ่อบาบาล เป็นเวลา 30 นาที และเกิดจากการทดลองสูบน้ำเป็นเวลานานระหว่าง 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น ทำให้น้ำหายไปจากชั้นน้ำบาดาลจากชั้นกรวดทราย ซึ่งอาจจะเป็นทางน้ำเก่า ซึ่งจุดนั้นไม่น้อยอาจถึง 30 ลบ.เมตร ทำให้เกิดช่องว่างและมีการจัดเรียงตัวใหม่ของชั้นกรวดทราย ทำให้แนวระดับชั้นน้ำบาดาลทรุดตัวเป็นรูปทรงกรวยอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำจากส่วนอื่นไหลแทรกเม็ดทรายเข้ามาแทนที่เพื่อรักษาระดับความดันน้ำไม่ทัน จึงเกิดการปรับตัวของชั้นกรวดทรายข้างล่างในบริเวณนั้น

และการที่มีรถรถบรรทุกอ้อยเต็มคันวิ่งผ่านกลางพื้นที่กว่าสิบเที่ยว อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการอัดแน่นของชั้นดิน ผนวกกับได้เกิดฝนตกลงมานานกว่า 1 ชั่วโมง ในวันที่ 19 ก.พ.ก่อนเกิดแผ่นดินทรุดตัวประมาณ 9-10 ชั่วโมง น้ำที่ไหลลงไปแทนที่น้ำในชั้นน้ำบาดาลจากด้านบนตามรอยปริร้าว น่าจะเป็นตัวเสริมให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินในบริเวณนั้นในที่สุด

สำหรับชั้นหินดาน ซึ่งมีแนวโน้มเป็นหินปูนนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าอยู่ลึกลงไปในระดับใด มีการวางตัวและโพรงหินใต้ดินหรือไม่อย่างไร มีมากน้อยและเป็นลักษณะอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้กำลังรอผลการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์แบบหลั่งธรณีใต้ผิวดิน โดยอาศัยคุณสมบัติความแตกต่างของค่าความต้านทานไฟฟ้าของชั้นใต้พิภพ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว

โดยคณะจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท นำโดย ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ซึ่งได้กล่าวโดยสรุป ว่า เหตุแผ่นดินทรุดที่บ้านของนายพลอย เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เกิดเฉพาะบริเวณจำกัด ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่า มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว และไม่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใดๆ ในพื้นที่และภาคตะวันตกก่อนและหลังการทรุดตัวของแผ่นดิน

การแก้ปัญหาในระยะสั้น ก็คือ ประชาชนที่มีบ่อบาดาล ควรใช้น้ำเป็นช่วงๆ เพื่อให้น้ำใต้ดินมีเวลาไหลเข้ามาแทนที่ได้ทัน ส่วนระยะยาว ควรพัฒนาการใช้ประโยชน์น้ำผิวดินอย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น