xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรจันท์หัวใสนำฟองน้ำปกคลุมหน้าดินรักษาความชื้นแก่ต้นไม้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - เกษตรกรในจันทบุรี หัวใสนำฟองน้ำปกคลุมหน้าดินรักษาความชื้นแก่ต้นไม้ บรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ขณะที่ทางจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ รวม 61 ตำบล

วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกพืช ในชุมชนบ้านเสม็ดงาม ม. 10 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี หลังพบว่าเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวแบบไร่สวนผสม ได้มีการนำเศษฟองน้ำที่ใช้ในการจัดดอกไม้ มาวางปกคลุมหน้าดินบริเวณโคนต้นพริก ที่กำลังออกผล เพื่อเป็นการรักษาความชื้นแทนการนำต้นหญ้าหรือฟางข้าวที่ตายแล้วมาวางปกคลุมป้องกันการยืนต้นตาย

โดยเกษตรกรเจ้าแปลงผักได้บอกว่า ภัยแล้งปีนี้น่าจะหนักกว่าทุกปี เนื่องจากไม่มีฝนตกตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำจืดในคลองธรรมชาติเหลือน้อย ประกอบกับช่วงนี้ชาวสวนผลไม้มีความต้องการใช้น้ำในช่วงที่ผลผลิตกำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ขณะที่การเพาะปลูกพืชผักสวนครัวก็จำเป็นต้องใช้น้ำเช่นกัน แต่ใช้ในปริมาณที่น้อย ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการบรรเทาความร้อนในเบื้องต้น เพราะหากรอความช่วยเหลือจากทางจังหวัดอาจจะเกิดความล่าช้าและพืชที่ปลูกไว้อาจได้รับความเสียหายไปแล้ว

ทั้งนี้ ฟองน้ำสามารถกักเก็บความชื้นได้ดีและนานกว่าต้นหญ้าหรือฟางข้าวทั่วไป ซึ่งราคาก็ไม่แพง หาซื้อได้ตามร้านรับซื้อเก่าทั่วไป และสามารถขอได้จากร้านจัดดอกไม้ ที่เหลือเป็นเศษก่อนจะนำทิ้งขยะ อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรที่เหลือใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด


ขณะที่ล่าสุด นายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ภัยแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อำเภอเขาคิชฌกูฏ รวมประกาศพื้นที่ภัยแล้งไปแล้วทั้งสิ้น 8 อำเภอ 61 ตำบล ประกอบด้วย อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม อำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ

เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมได้ขยายวงกว้างและมีความรุนแรงขึ้น ส่วนอีก 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองและอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีได้มอบหมายให้ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการออกให้ความช่วยเหลือ

รวมทั้งให้มีการประสานความร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. และเทศบาลทุกแห่งเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลกระทบภัยแล้งในระยะยาว 3-4 เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดจันทบุรี จะมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตของชาวสวนผลไม้เริ่มออกสู่ตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น