พิจิตร - ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง 8 อำเภอ 42 ตำบล 365 หมู่บ้านทั่วเมืองพิจิตร ผู้ว่าฯ สั่งดูแลวัด -โรงเรียน เป็นพิเศษ ขณะที่ชาวนาบางส่วนหยุดทำนาปรับ หันปลูกพืชสวนครัว แต่กลับขายได้ชั่วคราว คาดหากร้อนหนักกว่านี้อาจต้องหยุดเช่นกัน
นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดพิจิตรในปีนี้ ว่า มีแนวโน้มจะวิกฤติมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งแล้วใน 8 อำเภอ คือที่ วชิรบารมี บางมูลนาก ดงเจริญ บึงนาราง สากเหล็ก วังทรายพูน ทับคล้อ ตะพานหิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่แล้งซ้ำซาก
โดยทางจังหวัดได้วางแผนงานในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน โดยได้สั่งการไปยังนายอำเภอ แต่ละที่ให้ทำการสำรวจผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ก่อนเป็นอันดับแรกโดยเน้นย้ำไปที่วัด และโรงเรียน สถานที่เหล่านี้จะขาดน้ำไม่ได้เด็ดขาด อีกทั้งรถบรรทุกน้ำก็ขอให้ตรวจสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีอีกด้วย
ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร จังหวัดได้มีการเตือนล่วงหน้าถึงวิกฤติภัยแล้งในปีนี้ไปแล้วว่าไม่สมควรจะเสี่ยงทำนาปรังในรอบที่ 2 แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่ไม่เชื่อฟัง ซึ่งจะต้องรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้นเองแต่รับรองว่าน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้านทางราชการจะดูแลอย่างดีที่สุด คงไม่มีใครอดน้ำตายอย่างแน่นอน
ขณะที่นายพนม และนางมานะ เพชรไทย สองสามีภรรยา ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านวัดขนุน ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เธอและครอบครัวเชื่อคำเตือนของทางราชการที่ว่าจะเกิดภัยแล้งหนัก จึงหลีกเลี่ยงการทำนาปรัง ที่ต้องใช้น้ำมาก หันมาลดพื้นที่ทำนาจากหลายสิบไร่ เหลือ 1 - 2 ไร่เท่านั้น ที่เหลือก็ปลูกพืชผักสวนครัวทั้งถั่วฝักยาว แตงกวา พริกอ่อน มะเขือยาว ใช้ระยะเวลาปลูกพืชทุกอย่าง ประมาณ 40 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ เกือบทุกวัน หรือวันเว้นวัน
และช่วงนี้พืชผักขึ้นราคา จึงถือเป็นโอกาสทอง โดยราคาขายส่งพริกอ่อนขายส่งอยู่ที่ กก.ละ 20 บาท มะเขือยาว 12 บาท ถั่วฝักยาว 12 บาท แตงกวา 13 บาท ซึ่งในแต่ละวันทำงานกัน 6 คน ก็ยังพอมีเหลือ หลังหักค่าใช้จ่ายวันละเกือบ 2 พันบาท ซึ่งผลผลิตคาดว่าจะเก็บต่อไปได้อีกประมาณ 15 - 20 วัน ก็คงจะต้องหยุดดำเนินการ
เพราะขณะนี้อากาศร้อนรุนแรงมาก พืชทุกอย่างที่ปลูกเริ่มแห้งเหี่ยวตาย น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำใต้ดิน ก็เริ่มสูบไม่ขึ้น และเหือดแห้งลง โดยเฉพาะพริกอ่อน มีสภาพเห็นได้ชัดเมื่อกระทบภัยแล้ง หรืออากาศร้อนก็จะมีสีไม่เขียวสด หรือไม่แดงสด เมื่อแก่จัดอีกทั้งผิวก็จะมีตำหนิโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนถั่วฝักยาวอากาศร้อน ก็จะเกิดโรคหนอนชนิดต่าง ๆ มากัดกินทำลาย ถ้าจะฉีดยาก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีสารพิษตกค้าง คิดว่า ถ้าแล้งจัด หรืออากาศร้อนเช่นนี้คงต้องหยุดแน่นอน
ส่วนราคาพืชผักสวนครัวคาดว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งคงส่งผลให้พืชผักสวนครัวทุกชนิดขึ้นราคาอีกไม่น้อยกว่า 20 – 30 % อย่างแน่นอน