xs
xsm
sm
md
lg

นครปฐมเตือนเกษตรกรวางแผนปลูกพืชฤดูแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครปฐม - สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม เตือนเกษตรกรเตรียมมาตรการในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2553 หลังประเทศไทยกำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก

นายภูมิชัย กิตติพัฒนาการุณย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2552 ถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทำให้ทั่วทุกภาคมีอุณหภูมิลดลง รวมทั้งบริเวณยอดดอยและยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อยและสูงกว่าปีที่แล้ว ฤดูหนาวของประเทศไทยตอนบน จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อนึ่ง ประเทศไทยตอนบนอาจเกิดความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยเกือบตลอดช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2552 (กันยายน 2552 ) เป็นต้นมาจนถึงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2553)

สาเหตุจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ประกอบกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยรวมมีค่าน้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 8 ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งปี 2553 ของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทาน และพื้นที่แล้งซ้ำซาก

ดังนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม จึงขอให้เกษตรกรเตรียม นโยบาย มาตรการในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2553 ในด้านต่างๆ ดังนี้ มาตรการด้านการจัดสรรน้ำ ให้วางแผนการจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยส่งน้ำตามแผนการส่งน้ำของโครงการฯ รวมทั้งจัดรอบเวรการใช้น้ำของพื้นที่ชลประทานต่างๆ เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผน และสามารถกระจายน้ำให้พื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง

ส่วนเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ให้สูบน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่และให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มาตรการด้านการผลิต กำหนดพื้นที่ทำนาปรังให้ชัดเจน และมีการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด โดยการให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้งส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีขบวนการกลุ่มในการบริหารจัดการ มีการสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงโครงการของรัฐบาล

เช่น โครงการประกันรายได้ของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตที่มีศักยภาพของดินเหมาะสมกับการปลูกพืชไร่-ผัก มีการกระจายการผลิตไปสู่พืชอื่นๆทดแทนข้าวนาปรัง และประสานงานความร่วมมือภาคเอกชนด้านการตลาดของพืชไร่-ผักให้มีลู่ทางการตลาดที่ดี ข้อควรปฏิบัติสำหรับส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง

1) ข้าวนาปรัง ลดต้นทุนการปลูกข้าวโดยการใช้ข้าวพันธุ์ดี เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างเหมาะสม ลดการใช้สารป้องกันการกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สารชีวภาพและควรปรับปรุงดินด้วยการไม่เผาตอซัง ปลูกพืชหมุนเวียนหรือใช้ปุ๋ยพืชสด

2) พืชไร่-ผัก ส่งเสริมให้เกษตรมีการผลิตพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และมีความรู้ในการผลิตจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยว และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้กระบวนการเกษตรดีที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย นอกจากนี้ มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชนต่างๆ ในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง และนำสื่อมวลชนดูงานในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรและบุคคลทั่วไปรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยมีประเด็นประชาสัมพันธ์ ดังนี้

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมทั้งแผนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน รณรงค์ให้เกษตรกรและผู้ใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติตามแผนฯหรือรอบเวรการจัดสรรน้ำ รณรงค์ให้เกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยางดปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 สถานการณ์และแนวโน้มการตลาดพืชฤดูแล้งที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชฤดูแล้ง รณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังและฟางข้าวเพื่องดการเผาฟาง รณรงค์ให้เกษตรกรใช้พันธ์ข้าวคุณภาพดี และลดการใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น การเตือนภัยการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น