เชียงราย - นอภ.แม่สรวยเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้หาทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งหลังอำเภอได้รับงบฉุกเฉินจำนวน 1 ล้านบาท ทั้งวอนเกษตรกรให้ช่วยกันลดการสูญเสียน้ำให้มากที่สุดทั้งในแง่ของการเลี้ยงปลาและการปลูกพืชเกษตร
นายบุญยัง เรือนกุล นายอำเภอแม่สรวย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางอำเภอได้มีการเรียกประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อหาทางช่วยเหลือเษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง หลังจากที่ทางอำเภอได้รับการจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 1 ล้านบาท ในอำนาจของนายอำเภอเพื่อทำการปรับปรุงฝาย จัดหากระสอบทรายขนาด 50 เซ็นติเมตร และขนาด 90 เซ็นติเมตร เชือกฟางไว้สำหรับซ่อมสร้างฝายกั้นน้ำ ลำห้วย เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง เครื่องจักร ฯลฯ เพื่อนำมาป้องกันปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ เพราะพื้นที่ อ.แม่สรวย ส่วนใหญ่ใช้แม่น้ำลาวและแม่น้ำแม่สรวยจากเขื่อนแม่สรวยในการเกษตร
ทั้งนี้ ในการประชุมนอกจากจะชี้แจงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณดังกล่าวยังขอแรงประชาชนในพื้นที่ให้สมทบแรงงานในการขุดลอกและขอร้องให้มีการเกษตรกรบางคนเปิดทางน้ำให้น้ำไหลสะดวก เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรปลายน้ำต่างได้รับผลกระทบจนบางครั้งเกิดปัญหากระทบกระทั่งกันมาแล้ว
นายบุญยัง กล่าวว่าประการสำคัญได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทำการรณรงค์ให้เกษตรกร ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วยการควบคุมปริมาณน้ำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และให้เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ในยามจำเป็น รวมทั้งปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดจำนวนปลาขนาดใหญ่และลดจำนวนอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาในบ่อป้องกันน้ำเน่าเสียใน
นอกจากนี้ขอให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเตรียมรถบรรทุกน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรและพี่น้องประชาชนหากได้รับภัยแล้งอย่างรุนแรง เชื่อว่าแผนงานที่เตรียมไว้น่าจะเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึงอย่างแน่นอน
รายงานข่าวจาก อ.แม่สรวย แจ้งว่าในปัจจุบันเขื่อนแม่สรวยตั้งอยู่ อ.แม่สรวย และเป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ได้เร่งปล่อยน้ำ เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรบางส่วนในอำเภอแม่สรวยหลังจากที่พบว่าพื้นที่ทางการเกษตรใน 7 ตำบล 110 หมู่บ้าน จำนวน 9,600 ไร่ ได้แก่ ต.แม่สรวย ได้รับความผลกระทบจากฤดูแล้ง 800 ไร่ ต.เจดีย์หลวง จำนวน 600 ไร่ ต.ท่าก๊อ จำนวน 2,400 ไร่ ต.ศรีถ้อย จำนวน 2,000 ไร่ ต.แม่พริก จำนวน 700ไร่ ต.ป่าแดด จำนวน 1,600 ไร่ และตำบลวาวี จำนวน 2,500 ไร่
สาเหตุเกิดจากฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและแหล่งกักเก็บน้ำเกิดแห้งขอดเพราะเกษตรกรจำนวนมากทำการทดน้ำในปริมาณมากเกินไปจากแหล่งธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ในการปลูกข้าวนาปรังนั่นเอง.