ศรีสะเกษ - จังหวัดศรีสะเกษตั้งศูนย์รับมือภัยแล้งลงลึกระดับตำบลเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ทันการณ์ ขณะชาวนาแห่ลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปรัง ทำให้พื้นที่ปลูกเพิ่มกว่า 3-4 เท่าตัว
วันนี้ (27 ม.ค.) นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตน ได้เรียกประชุมนายอำเภอทุกอำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งปีนี้ฤดูแล้งมาเร็วกว่าปกติ และมีแนวโน้มสถานการณ์ที่รุนแรง โดยจ.ศรีสะเกษ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับจังหวัดและอำเภอ
รวมทั้งได้มีการประเมินว่าจะมีหมู่บ้านที่อาจต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 1,400 หมู่บ้าน จึงได้สั่งการหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับพื้นที่ตำบล ขึ้นด้วย ซึ่งได้เน้นต้องไม่ให้ราษฎรประสบภาวะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
นายประวัติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทุกอำเภอได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา 3 - 4 เท่าตัว รวมทั้งจังหวัดไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่ ซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องน้ำต้นทุนสำหรับนำมาใช้เพื่อการเพาะปลูกที่อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
“จึงได้กำชับให้หน่วยงานท้องถิ่นได้ปรับงบประมาณที่ไม่สำคัญและเร่งด่วนเพื่อการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ อ.ศิลาลาด อ.บึงบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาปีที่ประสบภัยน้ำท่วมนาข้าวได้รับความเสียหาย เกษตรกรมีความจำเป็นที่จะต้องปลูกข้าวนาปรังสำหรับการบริโภคในครัวเรือน” นายประวัติ กล่าว