xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมคนลุ่มโขงใต้เงาเขื่อนจีน (2) “สามเหลี่ยมทองคำยันเวียดนาม”โขงกลายสภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบ่ง สปป.ลาว เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ยังพอมีน้ำบริเวณร่องน้ำลึกให้พอเดินเรือได้บ้าง
ศูนย์ข่าวภูมิภาค – เปิดบันทึกวิถีคนลุ่มน้ำโขง พบตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ-แก่งช้างหมอบ ยันทะเลสาบเขมร-ที่ราบลุ่มน้ำโขงเวียดนาม ตกที่นั่งเดียวกันทั้งแถบ กระชังปลาหนองคายนับพันเสี่ยงเจ๊ง พื้นที่เกษตรหน้าหมู่ ไร้อนาคต หลังมหานทีใหญ่ที่เคยกว้างร่วมกิโลฯ วันนี้บางจุดกลายเป็นลำห้วยสายน้อยเท่านั้น

แม้รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีใครส่งเสียงออกมาดัง ๆ ว่า เขื่อนกั้นน้ำโขงของจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤติแม่น้ำโขงรุนแรงขึ้น หรือเป็นเพราะปริมาณน้ำสะสมทั้งน้ำโขง – แม่น้ำสาขา ปีที่ผ่านมามีน้อย เหลือปริมาณน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 40 ปี ก็ตาม

แต่การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ก็ทำให้ “คนลุ่มน้ำ” ตลอดแนวรับรู้ – รับผล อย่างเลี่ยงไม่พ้น

หลายสิบปีก่อน ชาวบ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จับปลาบึกได้ปีละหลายสิบตัว เช่น ปี 2529 จับได้ 18 ตัว ปี 2533 จับได้ถึง 69 ตัว แต่หลังจากนั้นก็จับได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนถึงปี 2544-2546 หลังมีเขื่อนจีนเกิดขึ้น-มีการระเบิดเกาะแก่งกลางน้ำ เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ ก็จับไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว กระทั่งปี 2547 จึงจับได้ 7 ตัว และนับแต่นั้นมา สถิติการจับปลาบึกที่หาดไคร้ก็เหลือปีละ 1-2 ตัวเท่านั้น

สุดท้ายอาชีพจับปลาบึกในน้ำโขง ก็เหลือเพียงพิธีกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น

ไล่เลาะลงไปที่ “บ้านหม้อ – บ้านป่าสัก” ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ที่มีคุ้งน้ำโขงอยู่ โดยมี “ดอนชิงชู้” สันดอนทรายของ สปป.ลาว อยู่กลางน้ำโขง วันนี้ เมื่อน้ำโขงแห้งเหือดลง ทำให้ดอนชิงชู้ กลายเป็นคันกั้นน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดหาดทรายกว้างใหญ่ขึ้น แม้แต่แอ่งกระทะ ก็แห้งเหือดไม่เหลือน้ำให้เห็น เรือที่ชาวบ้านเคยใช้สัญจรไปมา – เรือหาปลา ต้องจอดนิ่งสนิท

ต่างจากแล้งก่อน ๆ อย่างสิ้นเชิง

ผอง ดวงดี ชาวบ้านหม้อ บอกว่า น้ำโขงปีนี้ลดเร็วมาก ตั้งแต่ธันวาฯปีที่แล้ว จนถึงต้นกุมภาพันธ์ 2553 ก็แห้งขอด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เธอบอกว่า ในอดีตก่อนที่จีนจะสร้างเขื่อน หน้าแล้ง ยังพอมีน้ำโขงไหลมาอยู่บ้าง แม้จะไม่ลึกมากนัก แต่ก็มีน้ำขังอยู่บริเวณแอ่งกระทะกลางลำน้ำ ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทั้งจับปลา สูบน้ำ หาบน้ำรดสวนผัก บน “พื้นที่เกษตรหน้าหมู่” และสวนผักริมฝั่งโขง แม้กระทั่งสงกรานต์ แอ่งกระทะเหล่านี้ยังเป็นที่พักผ่อนท่องเที่ยว – เล่นน้ำคลายร้อน พอให้คึกคักชุ่มชื่นกันบ้าง

“แต่น้ำโขงปีนี้ ทำให้คนลาวเดินข้ามมาฝั่งไทยเพื่อเยี่ยมญาติหรือซื้อข้าวของจากฝั่งไทยได้สบาย”

ขณะที่ พรมลิน อ่วมกลาง ชาวประมงบ้านหม้อ สะท้อนว่า เขาจับปลาในแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็ก จนวันนี้ อายุ 43 ปีแล้ว เห็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เดิมไม่ว่าจะเป็นช่วงน้ำหลาก น้ำแล้ง ปลาในน้ำโขงก็ยังอุดมสมบูรณ์ หาได้มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับฝีมือ-โชคของพรานปลาแต่ละคน

แต่ปีนี้ ปลาที่จับได้ล้วนแต่เป็นปลาเล็ก – ขนาดกลาง เช่น ปลาเนื้ออ่อน, ปลาแข้, ปลาคัง, ปลาเผาะ, ปลาขาว เป็นต้น และยังต้องออกเรือไปให้ถึงร่องน้ำลึก เพื่อให้ปล่อยอวน ลากอวน ได้ อีกทั้งเมื่อน้ำโขงลด ร่องน้ำลึกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เราก็ต้องเปลี่ยนที่หาปลาใหม่ไปเรื่อย ๆ

เช่นเดียวกับเกษตรกรเลี้ยงปลากระชังในน้ำโขง ที่บ้านเจริญสุข ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย ที่มีกว่า 100 ราย หรือประมาณ 1,000 กระชังปลา วันนี้พวกเขาต่างเฝ้ามองน้ำโขงด้วยสายตาที่กังวล

สุเทพ หินต์วัน ผญบ.บ้านเจริญสุข บอกว่า ตั้งแต่ต้นกุมภาฯปีนี้ ชาวบ้านที่เลี้ยงปลากระชิงแถบนี้ ต้องคอยสังเกตระดับน้ำโขงทุกวัน เพราะกระชังปลา สูง 1.5 เมตร แต่ล่าสุดระดับน้ำบริเวณนี้อยู่ที่ประมาณ 2 เมตร หากน้ำโขงยังลดลงอีก เชื่อว่าเมษายนปีนี้ น้ำโขงจะต่ำกว่าความสูงของกระชังปลา และเมื่อนั้นก็คงต้องดันกระชังไปอยู่ร่องน้ำลึก เพื่อให้ปลาอยู่รอดได้

“ปี 50 ชาวบ้านต้องดันกระชังปลาออกห่างจากตลิ่งไปนับ 10 เมตร ทั้งที่น้ำโขงมีมากกว่าแล้งนี้มาก”

แต่สิ่งที่พวกเขากังวลมากกว่านี้ก็คือ ถ้าน้ำโขงยังแห้งต่อเนื่องไปอีก และภาวะภัยแล้งที่ยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่เกษตรของหนองคาย ที่เคยใช้น้ำโขงหล่อเลี้ยงมาตลอด จะตกอยู่ในสภาพไหน !?

ไม่ผิดกับน้ำโขง แถบ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เรื่อยไปถึง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ที่กล่าวได้ว่า ใครคิดว่าแม่น้ำโขง จะเป็นเหมือนที่เคยเห็นหลายๆปีก่อน ต้องผิดคาดอย่างสิ้นเชิงแน่นอน

เพราะจากมหานที ที่กว้างเกือบกิโลเมตร เหลือแค่ร่องน้ำเล็ก ๆ ที่ผ่านได้เฉพาะเรือเล็กเท่านั้น

ยิ่งเมื่อเทียบกับภาพเก่าที่เคยถ่ายไว้ ณ จุดเดียวกัน ยิ่งยืนยันกับ สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำนานาชาติสายนี้ เพราะมีสภาพผิดกันราว “ฟ้ากับดิน”

เช่น ที่ “แก่งช้างหมอบ บ้านห้วยยาง ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ” เมื่อปี 2549 แม้เป็นหน้าแล้ง หินโสโครก – ไม้น้ำ จะโผล่ให้เห็นเพียงเล็กน้อย แม้บางส่วนจะเป็นร่องน้ำตื้น แต่ก็มีน้ำไหลแรง พอให้ผู้คนใช้เป็นที่พักผ่อน-เล่นน้ำสงกรานต์กันหนาตา

แต่ปีนี้ สายน้ำจุดเดียวกัน กลับขาดช่วง ท้องน้ำแห้งสนิท บางแห่งผืนดินที่อยู่ท้องน้ำมาหลายชั่วอายุคน วันนี้ กลับแตกระแหง

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมทำให้ “ชุมชนคนลุ่มน้ำ” ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ทีเดียว จากที่เคยล่องเรือจับปลาตามคุ้งน้ำใหญ่ ต้องหันมาเดินถือแห เดินไปตามท้องน้ำโขง เหมือนลำน้ำขนาดเล็กแทน

บรรดาลูกเด็ก เล็กแดง เดินลัดเลาะตามโขดหิน จับปูปลาขนาดเล็กที่หลบซ่อนอยู่ตามโขดหินน้อยใหญ่ที่น้ำกำลังเหือดแห้งลงทุกขณะ

ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวนั่งเรือล่องดูสภาพแม่น้ำโขง โดยมี “บุญชู ศรีบานเย็น” พรานปลา ทำหน้าที่เป็นนายท้ายบังคับเรือ มี“สวัสดิ์ วระบุญญา” มัคคุเทศก์ประจำแก่งช้างหมอบ ทำหน้าที่ผู้นำร่อง คอยสอดส่ายตาไม่ให้ท้องเรือชนโขดหิน เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่น้ำโขงลดลง มุมหนึ่งส่งผลดีกับผู้ประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำ เพราะลำน้ำที่แคบลงมาก ทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากกว่าปกติ ราคาปลาแม่น้ำโขงขณะนี้ จึงปรับตัวลดลงตามปริมาณปลาที่ไหลเข้าสู่ตลาด

ปลาเศรษฐกิจ ทั้งกลุ่มปลาเนื้ออ่อน เช่น ปลานางแดง , ปลาหนัง /กลุ่มปลาเคิง ปลาคัง ปลากดที่นักกินปลานิยมนำไปทำลาบ ลวกจิ้ม และต้มยำ มีราคาถูกลงเฉลี่ยขายกันที่กิโลกรัมละ 130-160 บาท /กลุ่มปลามีเกล็ด ทั้งปลาก่ำ ปลานกแก้ว และอีกหลายสายพันธุ์ นิยมนำไปทำก้อย ทำลาบ หรือยำ มีราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท ทั้งที่อดีตปลาเหล่านี้ มีราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 150 บาท และบางฤดูมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละเกือบ 250 บาท

บุญชู มองว่า ลำน้ำที่แห้งขอดขณะนี้ ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ เพราะช่วงน้ำลดไม่ใช่ฤดูวางไข่ แต่จะกระทบถึงถิ่นฐานที่อยู่ของปลาในอนาคตหรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะปรากฏการณ์แม่น้ำโขงแห้งขนาดนี้ เกิดขึ้นเป็นปีแรก

“แต่จากลำแม่น้ำที่เคยกว้างกว่าหนึ่งกิโลเมตร เหลือแค่ร่องน้ำลึก ซึ่งมีระดับน้ำระหว่าง 1-3 เมตร ทำให้ง่ายต่อการจับปลาของชาวประมงริมแม่น้ำแน่นอน”

แต่สำหรับ มัคคุเทศก์สวัสดิ์ ให้ความเห็นต่างว่า น้ำที่ลดลง ส่งผลต่อเนื่องหลายประการ และเชื่อว่าน้ำโขงหายไปเพราะเขื่อนจีน โดยดูได้จากน้ำขึ้นเร็วและลงเร็ว เหมือนการระบายน้ำออกจากเขื่อน ที่จู่ๆน้ำก็ขึ้นภายใน 1-2 วัน ต่อมาไม่นานน้ำก็แห้งอีก

“น้ำโขงขึ้น-ลงปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ”

และแน่นอนไม่เพียงแต่สามเหลี่ยมทองคำ , บ้านหม้อ , แก่งช้างหมอบ ฯลฯ ในน้ำโขงที่เลาะเลียบพรมแดนไทยจากเหนือ – อีสาน จะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันเท่านั้น

แต่หมายรวมไปถึงมหานทีสี่พันดอน หลีผี คอนพะเพ็ง แห่งนครจำปาสัก สปป.ลาว เรื่อยไปจนถึง ทะเลสาบเขมร ที่ราบลุ่มน้ำโขงเวียดนาม ที่เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญของทั้ง 2 ประเทศ ที่มีน้ำโขงหล่อเลี้ยง ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน
บริเวณบ้านหม้อ ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งน้ำโขงแห้งขอด จนเห็นพื้นทราย เรือยาวที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมาต้องจอดนิ่ง
หากน้ำโขงยังลดระดับลงเช่นนี้ คาดว่าช่วงเดือนเมษายน ระดับน้ำโขงจะต่ำกว่าความสูงของกระชังปลา เกษตรกรจะต้องดันกระชังปลาออกห่างจากตลิ่งไปในบริเวณร่องน้ำลึก เพื่อให้ปลาอยู่รอด
3.สวัสดิ์ วระบุญญา
(อดีต)ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่แก่งช้างหมอบ บ้านห้วยยาง ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ
ปัจจุบันของแก่งช้างหมอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น