xs
xsm
sm
md
lg

ต้องมนต์ตรา “จำปาสัก” (จบ) ตอน: มรดกโลกวัดพู ความงามคู่เมืองลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : เหล็งฮู้ชง
เรือวัดพู
“มหานที สี่พันดอน” คือชื่อเรียกแม่น้ำโขงในลาวใต้ แขวงจำปาสัก ช่วงที่สายน้ำโขงไหลมาเจอดอน(เกาะในภาษาไทย)และแก่งจำนวนมาก สายน้ำจึงกระจายขยายเป็นบริเวณกว้างใหญ่ ในพื้นที่นี้มีเกาะแก่งมากมาย จนคนลาวเรียกขานให้เป็นดินแดน “สี่พันดอน” ซึ่งคนไทยมักเรียกว่า “มหานที สีทันดร”

บริเวณสี่พันดอน มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือน้ำตกคอนพะเพ็ง“ไนแองการ่าเอเชีย”อันลือลั่น และดอนเดด ดอนคอน ที่มีรอยอดีตในยุคฝรั่งเศสปกครอง รวมถึงน้ำตกโสมพะมิดหรือหลี่ผี ซึ่งหลังจากจบโปรแกรมการเที่ยวคอนพะเพ็ง ดอนเดด ดอนคอน(นำเสนอไปในตอนที่แล้ว) พี่บุญเลียบ ไกด์รุ่นใหญ่ชาวลาวพาผมและคณะนั่งเรือเล็กทวนสายน้ำโขงลัดเลาะไปตามสี่พันดอน เพื่อไปขึ้นเรือใหญ่“วัดพู แม่โขง ครุยส์” หรือ“เรือวัดพู” เรือท่องเที่ยวล่องแม่น้ำโขงเจ้าแรก ที่บนเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวพร้อมสรรพ ทั้งที่พักแอร์เย็นฉ่ำ ห้องอาหาร เคาน์เตอร์บาร์ โถงนั่งเล่น ให้พวกเราได้เพลิดเพลินกับการล่องแม่น้ำโขงในโปรแกรม 2 วันที่เหลือ

คืบก็โขง ศอกก็โขง

การเดินทางล่องโขงอย่างจริงจังเริ่มขึ้นหลังจากที่พวกเรานอนพักเอาแรงบนเรือวัดพูไปหนึ่งคืน(ยามนอนเรือจอดนิ่งอยู่กับที่)

สำหรับเช้าวันนี้เป็นการล่องเรือมาราธอนท่องแม่น้ำโขง โดยช่วงสายของวันเราไปแวะยัง“บ้านเดื่อเตี้ย” ที่ยังคงวิถีชนบทของชาวลาวไว้ให้ผู้สนใจได้สัมผัสกัน ชาวบ้านที่นี่ ยิ้มแย้ม เปี่ยมมิตรไมตรี ส่วนใหญ่ทำนา เลี้ยงสัตว์ และทำประมงเป็นหลัก นับเป็นวิถีอันเรียบง่ายแต่ดูมีเสน่ห์อยู่ในที
เรือประมงพื้นบ้านของชาวบ้านเดื่อเตี้ย
จากบ้านเดื่อเตี้ย เรือวัดพูล่องยาวขึ้นไปทางเหนือ ระหว่างทางใน 2 ฟากฝั่งโขงมีวิถีสีวันของบ้านเรือน วัด ชุมชน ริมโขงให้ชมกันเป็นระยะๆ ที่พิเศษคือช่วงที่เรือแล่นผ่านหมู่บ้าน จะมีเด็กๆวิ่งมาตะโกน ทักทาย(สะบายดี) โบกไม้โบกมือให้แก่เรือผู้ผ่านทาง เรียกรอยยิ้มให้กับคนบนเรือไปตามๆกัน

สำหรับเส้นทางล่องแม่น้ำช่วงนี้ เรือวัดพูล่องยาวในบรรยากาศคืบก็โขง ศอกก็โขง แต่ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ก่อนที่เรือจะไปหยุดเทียบท่าที่บ้านโต๊ะโมะทา เพื่อเทียบท่าให้สมาชิกได้ขึ้นเรืออีกครั้งเดินยืดเส้นยืดสายชมหมู่บ้าน และ “วัดอุโมงค์” ที่อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือไปประมาณ 1 กม.

ที่บ้านโต๊ะโมะทา เพียงแค่เดินขึ้นฝั่ง ผมเจอสาวลาวนุ่งกระโจมอาบน้ำให้ต้องเหลียวหน้าไปมอง สาวบางคนเขินอาย บางคนส่งยิ้มทักทาย ครั้นพอเดินเข้าหมู่บ้านที่มีบรรยากาศคล้ายบ้านเดื่อเตี้ย ได้เห็นถึงวิถีชีวิตยามเย็นของคนที่นี่ บางบ้านนำปลาที่จับได้มาคัดแยก บางบ้านพาลูกๆออกมาเดินเล่น บางบ้านตั้งวงสนทนา บางบ้านตั้งวงก๊งเบียร์สาว ดูแล้วเพลิดเพลินดี
วัดอุโมงค์
จากนั้นพี่บุญเลียบพาเดินไปยังวัดอุโมงค์ที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าละเมาะ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่กว่าวัดพูเสียอีก สร้างขึ้นราวๆ ค.ศ.7 เป็นลักษณะปราสาทขอม(ชาวลาวมักเรียกว่าวัด)โบราณก่อนยุคพระนคร มีสภาพทรุดโทรมเพราะขาดการบูรณะ แต่กระนั้นก็ยังมีร่องรอยอดีตหลงเหลือ อาทิ ทับหลังสลักลวดลายดอกไม้ กลีบขนุนพญานาค 5 เศียร โดยห้วยโต๊ะโมะเป็นบาราย(สระน้ำ)ธรรมชาติอยู่ข้างๆปราสาท

พี่บุญเลียบบอกว่า การเที่ยววัดอุโมงค์เป็นการอุ่นเครื่องการชมปราสาทขอม ก่อนที่จะไปชมไฮไลท์ ณ ปราสาทวัดพูในวันรุ่งขึ้น

มรดกโลกวัดพู

วันที่ 4 ในลาว ราวแปดโมง เรือวัดพูล่องทวนสายน้ำโขงมุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไป

สำหรับเช้านี้เรามีจุดหมายหลักอยู่ที่ “ปราสาทวัดพู” ในเมืองจำปาสัก อดีตเมืองหลวงของลาว และอดีตเมืองเอกของแขวงจำปาสัก
ชาวบ้านออกเรือหาปลาในลำน้ำโขง
เมื่อเรือขึ้นเทียบท่าที่จำปาสัก พี่บุญเลียบพาไปรู้จักวัดพูคร่าวๆที่ศูนย์ข้อมูลของยูเนสโกกันพอหอมปากหอมคอ จากนั้นเป็นการนั่งรถ 2 แถวลาว มุ่งหน้าสู่ปราสาทวัดพูที่พอไปถึงพี่บุญเลียบพาไปดูของเก่าในพิพิธภัณฑ์ก่อน ซึ่งโบราณวัตถุที่นี่ เป็นสิ่งของจากปราสาทวัดพูนำมาจัดแสดง ในนั้นมีของเก่าที่เด่นๆอย่าง ทับหลัง เสา รูปเคารพต่างๆ ศิวลึงค์

เสร็จจากชมพิพิธภัณฑ์ ทีนี้ถึงช่วงเวลาไฮไลท์กับการเดินขึ้นวัดพู มรดกโลก 1 ใน 2 ของลาว(อีกแห่งหนึ่งคือเมืองหลวงพระบาง) ที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2545

พี่บุญเลียบอธิบายว่า วัดพูมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นปราสาทขอมที่สร้างก่อนนครวัด มีชัยภูมิที่ตั้ง คือตั้งอยู่บน "พูเก้า" (ภูเกล้า) ภูเขาที่ชาวลาวมองคล้ายผู้หญิงเกล้ามวยผมแต่ฝรั่งมองคล้ายยอดปทุมถันของสตรี เขาพูเก้าเป็น"ลึงค์บรรพต" คือภูเขาที่มีลักษณะตามธรรมชาติคล้ายศิวลึงค์ ซึ่งชาวขอมโบราณเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทพมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เหนือตัวปรางค์ประธานของปราสาทวัดพูยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ ที่เมื่อขึ้นไปถึงคงจะได้ลองลิ้มรสกัน
ทางเดินเสานางเรียง
สำหรับความเป็นมาของการสร้างวัดพูนั้น เรื่องคร่าวๆมีอยู่ว่า ในอดีตก่อนที่อาณาจักรขอมจะเรืองอำนาจสุดขีดในยุคพระนคร(มีนครวัดและนครธมเป็นผลงานชิ้นเอก) ขอมโบราณแบ่งเป็น 2 อาณาจักร คือ เจนละน้ำ (อยู่บริเวณเขมรตอนกลางกับตอนล่างในปัจจุบัน )กับเจนละบก(พื้นที่ตั้งแต่อุบลราชธานี บุรีรัมย์ จำปาสัก ไล่ไปจนถึงเขมร)

เจนละบกยุคนั้น(ราว 1,300 ปีก่อน) นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ที่บูชาพระศิวะเป็นเทพสูงสุด จึงสร้างวัดพูขึ้นเป็นศาสนสถานสำคัญ บูชาพระศิวะ โดยสร้างศิวลึงค์ที่เปรียบดังตัวแทนขององค์ศิวเทพไว้ที่ใจกลางปรางค์ประธาน

ยุคนั้นศาสนสถานแห่งนี้มีสถานะเป็นปราสาทเพราะขอมเป็นผู้สร้าง แต่ครั้นสิ้นยุคเจนละ ชาวลาวนับถือพุทธที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ ได้ปรับเปลี่ยนปราสาทขอมให้เป็นวัดในพุทธศาสนา พร้อมเปลี่ยนศิวลึงค์ในปรางค์ประธานเป็นองค์พระประธานแทน

มาวันนี้คืนเปลี่ยนวันผ่าน กาลเวลาล่วงเลยมาพันกว่าปี แต่วัดพูยังหลงเหลือรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ให้ชมอยู่มากมายสมดังมรดกโลก ไล่ไปตั้งแต่บาราย(สระขุด)ขนาดใหญ่ก่อนถึงทางขึ้น ถัดไปเป็นปราสาทใหญ่ 2 หลังซ้ายขวา เชื่อว่าเป็นที่พักผู้แสวงบุญที่มาสักการะวัดพู แบ่งเป็น หอเท้า ขวา-ผู้ชาย หอนาง ซ้าย-ผู้หญิง
ปราสาทประธาน วัดพู
เมื่อเดินต่อไปเป็นทางเดิน“เสานางเรียง” ตั้งบ้าง ล้มบ้าง สมบูรณ์บ้าง หักบ้าง เรียงราย 2 ข้างทาง ทอดยาวนำสายตาสู่ยอดพูเก้า ระหว่างทางเดินขึ้นปราสาทประธาน มีต้นจำปา(ลั่นทมหรือลีลาวดี)อายุนับร้อยปีขึ้นประดับ 2 ฟากฝั่ง

เหนือขึ้นไปจากนั้น ณ จุดพักกลางทาง มีรูปเคารพซึ่งชาวลาวเชื่อว่าเป็น“พญากรมทา” ผู้เปลี่ยนศาสนสถานแห่งนี้จากปราสาทมาเป็นวัด จึงมีเครื่องบายศรี ธูป เทียน จำนวนหนึ่งวางสักการะอยู่ที่แท่นหน้ารูปเคารพ

และแล้วเส้นทางก็นำมาถึงยังตัวปราสาทประธานบนภูเขา มีลักษณะเป็นปราสาทขนาดย่อม มีความเป็นพุทธและฮินดูอยู่คู่กัน
ลายสลักทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ความเป็นฮินดู ดูได้จากคติความเชื่อในการวางผัง การสร้างปราสาทและรูปสลักต่างๆ อาทิ รูปนางอัปสร รูปทวารบาล รูปพระศิวะ รูปพระนารายณ์ รูปหน้ากาล ส่วนความเป็นพุทธ ดูได้จากตัวปราสาทที่มีพระประธาน และพระพุทธรูปองค์เล็กๆ อยู่ภายใน ให้สักการะบูชา เป็นโบสถ์ที่ดัดแปลงจากปราสาทอย่างลงตัว

สำหรับลวดลานสลักหินประดับที่นี่ต้องถือว่าสมบูรณ์ทีเดียว ทั้งทวารบาล นางอัปสรา ลวดลายทับหลัง โดยเฉพาะรูปสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนทับหลังชั้นในทางเข้าโบสถ์สมบูรณ์มาก ช่างโบรารสลักได้อย่างถึงอารมณ์ กว้านเนื้อหินเข้าไปจนลึก ทำให้รูปสลักลอยนูนเด่นขึ้นมาดูงดงามนัก

ของดีที่วัดพูยังไม่หมด หากเดินไปที่ด้านหลังปรางก์ประธานจะเห็นรูปสลักหินนูนต่ำเทพ 3 องค์แห่งศาสนาฮินดู คือ พระศิวะ(กลาง) พระพรหม(ซ้าย) พระวิษณุ(ขวา) ให้เคารพสักการะกัน จากนั้นเดินออกซ้ายไปใต้ชะง่อนผา จะน้ำธรรมชาติหยดติ๋งๆลงมาจากพูเก้า ซึ่งชาวลาวเชื่อกันว่านี่คือน้ำศักดิ์สิทธิ์(อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น) ใครได้ดื่มกินล้างหน้าล้างตา ก็จะเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต
ทิวทัศน์ด้านล่างของทางขึ้นปราสาทวัดพู
เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จประการใด ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ว่าการได้น้ำธรรมชาติเย็นๆลูบหน้าลูบตา มันช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นมามากโข และมีแรงเดินต่อไปชมหินรูปช้าง และหินขุดรูปจระเข้ที่เชื่อว่าใช้ในพิธีบูชายัญของคนโบราณเป็นสิ่งน่าสนใจปิดท้ายบนวัดพู ก่อนที่ผมล่ำลาจากวัดพูเดินผ่านปราสาทประธานอีกครั้ง

ณ จุดนี้เมื่อมองลงไปสวนทางกับขาเดินขึ้นมา ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้จะเห็นทิวทัศน์เบื้องเป็นทุ่งนาเขียวขจี มีปราสาทที่พัก 2 หลังตั้งเด่น เลยไปเป็นบารายใหญ่ใช้เพื่อการเกษตร นับได้ว่าคนโบราณช่างคิดสร้างสรรค์ในการสร้างศาสนสถานให้สัมพันธ์กับชุมชนได้ดีทีเดียว
ทิวทัศน์แม่น้ำโขง มองจากยอดภูงอย
ปากเซ

ลงจากวัดพูพี่บุญเลียบ พาเที่ยวอีก 2 วัดในเมืองเก่าจำปาสักและพาชมอดีตวังเก่า ก่อนกลับมาขึ้นเรือมุ่งหน้าสู่เมืองปากเซ

ระหว่างทางช่วงเย็นก่อนถึงปากเซ ผมและคณะไปแวะที่เชิง“ภูงอย”แล้วเดินขึ้นบันไดหลายร้อยขึ้นขึ้นไปชมวิวแม่น้ำโขงบนยอดภูงอย(วัดภูงอย) เห็นวิวอันงดงามของลำน้ำโขง ก่อนเดินทางกลับมาขึ้นยังเมืองปากเซ อันถือเป็นการปิดทริปเที่ยวจำปาสัก เมืองที่กำลังบูมทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกับเมืองเอกของแขวงอย่างปากเซนั้น กำลังโตวันโตคืน ซึ่งนับว่าน่าติดตามยิ่งว่าในอนาคตเมืองปากเซจะเติบโตไปในทิศทางใด...
****************************************

จำปาสัก เป็นแขวงทางตอนใต้สุดของลาว มีเมืองปากเซเป็นเมืองเอก อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 50 กม. จากเมืองไทยสามารถเดินทางสู่จำปาสักได้อย่างสะดวกสบายที่ด่านชายแดนช่องเม็ก(อุบลราชธานี)-วังเต่า(ฝั่งลาว) ซึ่งผู้ที่ต้องการเที่ยวจำปาสักพร้อมล่องเรือสัมผัสแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิดด้วยการเที่ยว กิน และนอนบนเรือ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ ทรอปิคอล สตาร์ ทราเวล โทร. 0-25134996,0-2513-4913 หรือที่ แม่โขง ครุยส์(ประเทศไทย) โทร.0- 2689-0429-30
กำลังโหลดความคิดเห็น