ศูนย์ข่าวศรีราชา -ไทยร่วมกับ 10 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำ เพื่อร่วมอนุรักษ์คุ้มครอง มรดกศิลปวัฒนธรรมต่างๆให้ยั่งยืน
นายเอิปเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดี หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กล่าวถึง โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั้น ขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกให้ความสนใจและพร้อมจะร่วมมือในการอนุรักษ์และดูแลให้มรดกที่อยู่ใต้น้ำ-ทะเล อยู่คู่กับประเทศนั้นๆต่อไปอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาโบราณวัตถุที่อยู่ใต้น้ำ-ทะเล ถูกผู้ประกอบการหรือผู้ที่นิยมของเก่าแก่ ลักลอบขุดหรือนำไปขาย ทำให้วัตถุโบราณและสิ่งของที่มีคุณค่าถูกทำลาย จนใกล้จะสูญหายหรือหมดไปแล้ว ดังนั้น ประเทศไทยโดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงร่วมมือกับประเทศเพื่อบ้านแถบเอเชียแปซิฟิก พร้อมร่วมมือจะอนุรักษ์โบราณคดีใต้น้ำให้อยู่ต่อได้ โดยได้รับการสนับสนุบและส่งเสริมจากองค์การยูเนสโก ที่จะช่วยกันอนุรักษ์ดังกล่าว
นายเอิปเปรม กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา วัตถุโบราณถูกลักลอบและทำลายมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว ทำให้วัตถุโบราณใต้น้ำ-ทะเล ใกล้หมด ซึ่งต่อมาจึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำเกิดขึ้น และขยายไปสู่ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย ประเทศ ฟิลิปปินส์ ,อินโดนีเซีย , มาเลเซีย ,เวียดนาม , กัมพูชา ,บูรไน ,บังกาลเทศ ,ศรีลังกา ,ปากีสถาน และประเทศไทย เพื่อต้องการให้วัตถุโบราณอยู่คู่กับประเทศนั้นต่อไป
การจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าวได้มีการเชิญผู้เชียวชาญทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มาให้ความรู้ กับผู้เข้าร่วมกับการฝึกอบรบทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างสมาชิกที่ร่วมรับการฝึกอบรม จัดระบบการทำงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานของการคุ้มครองดูแล มรดกศิลปวัฒนธรรมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
นายเอิปเปรม กล่าวว่า การอนุรักษ์โบราณคดีใต้น้ำ-ทะเล ยังมีปัญหาและอุปสรรค เนื่องจาก ขาดบุคคลากร และขาดงบประมาณ เนื่องจากการมีพื้นที่ในการเฝ้าระวังดูแลพื้นที่กว้าง ที่สำคัญการศึกษาวิจัยค้นคว้าก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ช่วยกันเฝ้าระวังดูแล และสร้างความเข้าใจกับผู้ที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้โบราณคดีเหล่านั้นมีอยู่ต่อไป