xs
xsm
sm
md
lg

ทีมนักประวัติศาสตร์ลุ้นหาที่ตั้ง “เมืองฉอด” ตามรอยศิลาจารึก 1-โยงสุโขทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- นักประวัติศาสตร์ตั้งโต๊ะค้นหาที่ตั้งเมืองฉอด ตามหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ 730 ปี สุโขทัย-พิษณุโลก-กาญจนบุรี-ลพบุรี-เมืองฉอด ล่าสุดลงพื้นที่สำรวจข้อมูล “นครแม่สอด” คือเมืองฉอด ในอดีตหรือไม่

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประธานคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รศ.ดร.วุฒิชัย มูลศิลป์ นายกสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ พร้อมคณะกรรมการ-นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์-ผู้เชี่ยวชาญ-คณะที่ปรึกษา สมาคมฯ ได้เดินทางมาร่วมประชุมเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์ กับผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน

ทั้งนี้ เพื่อค้นหาที่ตั้งเมืองฉอด ตามหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 อยู่ที่ไหน ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม โรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว เทศบาล “นครแม่สอด” อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อค้นหาจุดที่ตั้ง“เมืองฉอด” ตามหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 ที่เขียนไว้ว่า เมืองฉอดกับกรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันมากว่า 730 ปีจนถึงปี 2553

รศ.วุฒิชัย กล่าวว่า ทางสมาคมฯจากจังหวัดต่างๆที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกันเช่น จังหวัดกาญจนบุรี-พิษณุโลก-สุโขทัย-ลพบุรี-ตาก (แม่สอด) และกรุงเทพฯ กับชมรมผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองฉอด (แม่สอด) ได้พูดถึงประวัติศาสตร์เมืองฉอดให้กับคณะกรรมการสมาคมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ “เมืองฉอด” เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางการศึกษาและร่วมแสดงแนวคิดถึงจุดที่น่าจะเป็นพื้นที่ตั้งเมืองฉอดกับ “นครแม่สอด” ในปัจจุบัน

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมเสวนาครั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ “นครแม่สอด” ได้เสนอแนวความคิดเห็นถึงแหล่งที่ตั้งเมืองฉอด โดยนำแนวคิดและหลักฐานมาประกอบเช่น โบราณสถาน 700 ปี คอกช้างเผือกที่ ต.ท่าสายลวด ด่านแม่ละเมา-คูน้ำ สันคือ กำแพงดิน-อิฐและสภาพลำห้วยและแม่น้ำต่างๆ รวมทั้งแนวกำแพงเมืองและเส้นทางเดินทัพ มาให้คณะกรรมการได้ศึกษาข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยกับที่ตั้งเมืองฉอด ที่คนในท้องถิ่นเชื่อว่า คือพื้นที่ในเขตเทศบาล “นครแม่สอด” ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนไทย-พม่าที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เคยมีอดีตแม่ทัพภาค 3 ทำการ ศึกษาประวัติศาสตร์เส้นทางเดินทัพของพม่า และนำหลักฐานทางโบราณวัตถุ-โบราณสถานมาศึกษาดู และมีความเป็นไปได้ว่าเมืองฉอด อาจจะมีที่ตั้งที่ อ.แม่สอด และมีเส้นทางลำเลียงเดินทัพ เชื่อมโยง อ.ท่าสองยาง อ.บ้านตาก ผ่านด่านแม่ละเมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำบลด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด ในปัจจุบัน

คณะของสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังกำหนดเดินทางไปศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน กับเมืองฉอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) ในเขตเทศบาล “นครแม่สอด” และ ที่ อ.ท่าสองยาง-อ.บ้านตาก-จ.ตาก จ.สุโขทัย-พิษณุโลก-กาญจนบุรี-ลพบุรีและกรุงเทพฯ ต่อไปเพื่อค้นคว้าหาเมืองฉอดและเมืองที่เป็นเมืองคู่แฝดเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กัน

ในส่วนของประชาชนท้องถิ่นแม่สอด ได้ตื่นตัวเรื่องนี้และเตรียมจัดตั้งสมาคมผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองฉอด เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญทางประวิศาสตร์ควบคู่กับการเป็นเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนไทย-พม่า ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น