กาญจนบุรี - ที่ปรึกษาโรงงานน้ำตาลพาคณะสื่อมวลชนตรวจสอบสภาพโรงงานหลังถังโมลาสระอุ น้ำโมลาสทะลักลงสู่แม่น้ำแม่กลอง กว่า 150,000 ลิตร โวไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ
ความคืบหน้ากรณีถังกักเก็บโมลาสเกิดเหตุถังเก็บโมลาสหมายเลข 1 จากจำนวน 9 ถัง บรรจุถังละ 2,500 ตัน เกิดล้นและคันป้องกันรอบถุงเก็บทำให้ถังเก็บโมลาสไหลนองพื้นและผ่านท่อระบาบน้ำฝนลงสู่แม่น้ำแม่กลองประมาณ 150,000 ลิตรเหตุเกิดเมื่อเวลา 054.30 น.ของวันที่ 25 ก.พ.2553 ที่ผ่านมาซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน บริษัทไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 84 หมู่ 3 ต.วังศาลา อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
เมื่อเวลา 16.30 น.วันนี้ (25 ก.พ.53) นายสมเกียรติ ชูตระกูล ที่ปรึกษาผู้จัดการโรงงานไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุเวลาประมาณ 05.30 น. ถังโมลาสถังที่4 ที่มีปริมาณน้ำโมลาสอยู่ประมาณ 1,300 ลบ.เมตรได้เกิดปัญหาขัดข้อง โดยมีจำนวนอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติที่จะต้องมีอุณหภูมิประมาณ 40 องศา แต่เพิ่มขึ้นเป็น 60 องศา ทำให้น้ำโมลาสที่อยู่ในถังมีแรงดันและเกิดการขยายตัวไหลออกมาจากถังเก็บกัก และไหลออกมาลงสู่ทางระบายน้ำฝนฉุกเฉินที่ทางโรงงานใช้ระบายน้ำฝนกรณีที่เกิดฝนตกไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง เป็นปริมาณมากประมาณ 150 ลบ.เมตร
เมื่อทางโรงงานทราบได้แก้ไขโดยพยายามปิดวาวล์เพื่อให้หยุดการทำงานของถังเก็บโมลาสเจ้าปัญหาและนำเอาถุงทรายมาปิดกั้นทางระบายน้ำเพื่อปิดกั้นทางระบายลงสู่แม่นำแม่กลอง จากนั้นได้แจ้งให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเข้ามาร่วมตรวจสอบและร่วมแก้ปัญหาผลกระทบต่างๆ”เบื้องต้นอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดราชบุรี ได้เก็บตัวอย่างของน้ำเพื่อนำไปวิเคราะห์แล้ว ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายใน 2-3 วัน
แต่อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถหาทางป้องกันการไหลกากน้ำตาลที่ล้นออกมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตนคาดว่าโมลาสที่ไหลลงสู่แม่น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำแต่อย่างใด
ด้านนาย มณีโชค อุตตะโมต อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่าได้ทำการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยใช้หลักฐานประกอบวิชาวิศวกรรมเพื่อสันนิษฐานหาสาเหตุที่เป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปหาสาเหตุได้ และได้เสนอแนะให้ในการป้องกันอุบัติเหตุ โดยให้สูบน้ำจุดที่มีโมลาสรั่วลงแม่น้ำแม่กลองเก็บไว้ในบ่อพักประมาณ 100,000 ลบ.ม.เพื่อนำกลับไปบำบัด จากนั้นได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการเลี้ยงปลากระชังให้ทราบและให้ระมัดระวัง
โดยขั้นตอนการดำเนินงานของ สอจ.กาญจนบุรี ได้เก็บตัวอย่างน้ำตรงบริเวณจุดโมลาสที่ไหลลงแม่น้ำ 2 ตัวอย่าง และห่างจากจุดแรกปลายๆน้ำประมาณ 20 เมตร อีก 2 ตัวอย่างส่งศูนย์วิเคราะห์ภาคตะวันตก ( ราชบุรี ) และได้สั่งการให้โรงงานปรับปรุงแก้ไข โดยให้ตรวจสอบถังเก็บโมลาสและระบบสูบจ่าย พร้อมกับให้จัดเก็บโมลาสที่รั่วไหลตามพื้นโรงงานให้เรียบร้อย ห้ามไม่ให้ระบายสู่ภายนอกอย่างเด็ดขาด และให้จัดสร้างคันป้องกันรอบถังโมลาสให้มีขนาดที่เพียงพอ