กาญจนบุรี - ปภ.กาญจนบุรี ประชุมวางแผนป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติฉุกเฉิน กรณีน้ำท่วมฉับพลันจากเขื่อนจังหวัดกาญจนบุรี
นายไชโย ฤทธิรงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดกาญจนบุรีตั้งอยู่ในภาคกลางทางทิศตะวันตกของประเทศ เป็นเขตมรสุมที่มีอิทธิพลจากทะเลอันดามัน ปริมาณฝนตกชุก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 2 เขื่อน คือ คือเขื่อนศรีนครินทร์ สามารถเก็บกักน้ำได้จำนวน 17,745 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนวชิราลงกรณ สามารถเก็บกักน้ำได้จำนวน 8,860 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนศรีนครินทร์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควใหญ่ บ้านเจ้าเณร ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำชนิดหินทิ้งแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 150 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ของอ่างเก็บน้ำมีจำนวน 419 ตารางกิโลเมตร ความจุ 17,745 ล้าน ลบ.ม. สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปริมาณปีละ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ ต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งเขื่อนศรีนครินทร์ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นระยะทาง 65 กิโลเมตร
ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณ ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ ตัวเขื่อนนั้นเป็นแบบหินทิ้ง ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ระดับสันเขื่อนสูง 163 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่อ่างเก็บน้ำจำนวน 353 ตารางกิโลเมตร ความจุ 8,860 ล้าน ลบ.ม.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 777 ล้านกิโลวัตต์ ต่อ 1ชั่วโมง ซึ่งเขื่อนวชิราลงกรณ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นระยะทาง 150 กิโลเมตร
นายไชโย ฤทธิรงค์ เปิดเผยต่อว่า สำหรับแผ่นดินไหว หรือ ( Earth Quake ) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการเคลท่อนตัวอย่างฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก เป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลายที่อยู่ภายใต้เปลือกโลกได้รับความร้อนจากแกนโลกและลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ กัน
พร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายในบริเวณของของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกันเสียดสีกัน หรือแยกออกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใดๆ ไม่ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใด ประเทศนั้นก็จะมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวสูง
เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศนิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้นพลังที่สะสมในเปลือกโลกถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีป ตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลกหรือที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” เมื่อระนาบรอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมากๆ ก็จะทำให้รอยเลื่อนมีการเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน เกิดแผ่นไหวเช่นเดียวกัน
นายไชโย ฤทธิรงค์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับระยะก่อนเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมฉับพลัน เป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม สร้างความตระหนัก และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบชุมชนหรือหมู่บ้านหรือในพื้นที่เป้าหมายให้สามารถลดผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งมีกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติ
เช่น การเตรียมความพร้อม, การแจ้งเตือนประชาชน, การเตรียมการอพยพประชาชน, การประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ, การอพยพประชาชน, การจัดระเบียบสถานที่อพยพและการอำนวยความปลอดภัย, การดูแลความปลอดภัยบ้านเรือนของผู้อพยพ, การอำนวยความสะดวกแก่ผู้อพยพ, และการแจ้งความเคลื่อนไหวของสถานการณ์, ซึ่งมาตรการทุกอย่างทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดเตรียมแผนไว้รองรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทันที่ถ้าเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันขึ้นมาในอนาคต
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะประธานคณะทำงาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำแควใหญ่ เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา สาเหตุเนื่องมาจากเขื่อนศรีนครินทร์ได้เพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มกำลังเป็นผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำแควใหญ่ด้านท้ายเขื่อนมีระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้ประชาชนและสถานประกอบการ โรงแรม รีสอร์ท ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำได้รับผลกระทบ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการและป้องกันหากเกิดผลกระทบดังกล่าวขึ้นมาอีกในอนาคต จึงจำเป็นต้องทบทวน ปรับปรุง และจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติฉุกเฉินกรณีเขื่อนได้รับผลกระทบทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ครอบคลุมเป็นปัจจุบัน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทางปฏิบัติ
ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวน ปรับปรุง และจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติฉุกเฉินกรณีเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จำเป็นต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าฉุกเฉินในอนาคต