xs
xsm
sm
md
lg

ปปท.พบพิรุธเพียบ-เชียงรายผลาญงบภัยพิบัติ/ชง รมว.ยุติธรรม-นายกฯฟัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ปปท.ตรวจพบเชียงรายใช้งบฯภัยพิบัติผิดกฎหมาย 218 ล้าน พิรุธซอยย่อยเป็นโครงการไม่เกิน 1 ล้าน ที่อนุมัติได้ในระดับอำเภอทันที แถมส่วนใหญ่เป็นโครงการทำถนนเข้าไร่-สวน เร่งรวบรวมข้อมูลเสนอ รมว.ยุติธรรม – นายกฯพิจารณาจัดการ พร้อมเตรียมขยายผลตรวจสอบทั่ว 8 จังหวัดภาคเหนือต่อ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (24 ก.พ.) นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ปปท. พร้อมด้วยนางรมณีย์ กลั่นบิดา ผู้อำนวยการ ปปท.เขตพื้นที่ 5 นำวิศวกรโยธาของสำนักงานทางหลวงชนบท จ.เชียงราย และคณะเดินทางไปตรวจสอบโครงการด้านการป้องกันภัยพิบัติหลายโครงการในพื้นที่เชียงราย หลังจากมีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบข้อมูล

ในครั้งนี้คณะได้เดินทางเข้าตรวจสอบการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านทรายกาด ต.ตับเต่า อ.เทิง ซึ่งได้ก่อสร้างด้วยงบประมาณทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินประจำปี 2552 จำนวน 998,000 บาท นอกจากนี้ยังไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างท่อเหลี่ยมคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) พื้นที่หมู่บ้านต้นเขียง ต.ตับเต่า มีนายชูศักดิ์ สวัสดี ปลัดอำเภอเทิง นำคณะลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าว

นางรมณีย์ กล่าวว่า ตลอดปี 2552 เชียงราย ได้รับการจัดสรรงบประมาณทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน 218 ล้านบาท และถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรือน้ำท่วมประมาณ 49 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่างบดังกล่าวถูกนำไปสร้างเป็นคอนกรีตและท่อเหลี่ยม คสล.เป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฉุกเฉิน พ.ศ.2540 ระบุให้ต้องเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า หากเป็นสะพานก็เป็นลักษณะซ่อมแซมหรือจัดสร้างไม่เกินกว่ามูลค่าของสะพานเดิม จึงถือว่าเป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์

"โครงการในลักษณะดังกล่าวได้ก่อสร้างในพื้นที่ 4 อำเภอคือ อ.พาน อ.ป่าแดด อ.เชียงแสน และ อ.เทิง ถือว่ามีการใช้งบประมาณอย่างต้องสงสัย จึงจะรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการต่อไป" นางรมณีย์ กล่าว

ด้านนายภิญโญ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นการสร้างในพื้นที่ที่ไม่น่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือหากเกิดขึ้นก็ไม่ถึงขั้นจะเป็นอุทกภัย รวมทั้งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการสร้างถนนเข้าไปยังไร่นาหรือสวน ทั้งยังตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างไม่ให้เกินโครงการย่อคือ 1 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบจะทำให้แต่ละอำเภอมีอำนาจในการอนุมัติก่อสร้างโดยไม่ต้องผ่านจังหวัด

แต่กรณีที่เกิน 1 ล้านบาทต้องให้จังหวัดพิจารณาก่อน และที่ผิดสังเกตอย่างมากอีกประการคือมีการก่อสร้างที่เตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า โดยที่พื้นที่นั้นๆ ยังไม่เคยเกิดเหตุอุทกภัย แต่เมื่อถึงเวลาใช้งบประมาณก็มาเบิกจ่ายในปีงบประมาณเดียวกันด้วย

"เมื่อพบเหตุการณ์นี้ที่เชียงราย จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจโครงการต้องสงสัยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เพราะมีหลายโครงการที่อาจเข้าข่ายทุจริต หากตรวจสอบแล้วพบว่าทุจริตก็จะมีการสืบหาตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่ผู้เสนอโครงการ ผู้อนุมัติ รวมถึงไปก่อสร้างด้วย" นายภิญโญ กล่าวและว่า

หลังการตรวจสอบทาง ปปท.จะรวบรวมข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ สวัสดี ปลัดอำเภอเทิง กล่าวว่า โครงการในพื้นที่ อ.เทิง สร้างขึ้นก็เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก จนทำให้สะพานเดิมเสียหาย

โดยมีทั้งแบบสะพานคอนกรีตและสะพานท่อเหลี่ยม(คสล.) ซึ่งยืนยันว่าได้ดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และสร้างเพื่อให้มีความคงทนแข็งแรงสามารถใช้ได้นาน 10-20 ปี ดังนั้นจึงต้องทำให้มีคุณภาพ

กำลังโหลดความคิดเห็น