ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักธุรกิจรีไซเคิลของเสียบนเรือต่างชาติ แฉมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและในท่าเรือแหลมฉบัง เรียกรับผลประโยชน์ หากไม่จ่ายอาจถูกอุ้ม ทั้งๆ ที่ทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย
นายประสงค์ สุขกร อายุ 42 ปีอยู่บ้านเลขที่ 117 / 41 ม.3 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท พลูตาหลวงรีไซเคิล จำกัด กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และตำรวจแหลมฉบังว่า เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากและได้เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่อเร็วๆ นี้ หลังลูกน้องได้มารับสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งตนก็ได้ขับรถมาเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับลูกน้องตามที่นัดหมายภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.แยกท่าเรือแหลมฉบัง ถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้าพัทยา ม.3 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ในช่วงที่ขับรถเข้าไปในปั๊มน้ำมันนั้นตนพบชายฉกรรจ์ ประมาณ 3 – 4 คนนั่งอยู่ในศาลาข้างห้องน้ำ ปั๊มดังกล่าว ตนเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ มีการชี้มือมายังรถของตน ประกอบกับก่อนหน้านี้ ตนมีปัญหาขัดแย้งกับ บริษัทคู่แข่ง ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ เมื่อเห็นว่าผิดสังเกต จึงตัดสินใจขับรถออกจากปั๊ม และโทรศัพท์คุยกับพนักงานที่ยืนรออยู่ในปั๊มน้ำมัน เปลี่ยนจุดนัดพบใหม่ ทางเข้าหมู่บ้านการเคหะแหลมฉบัง
นายประสงค์ กล่าวว่า ในระหว่างที่ตนจอดรถรอลูกน้องนั้น พบมีรถกระบะ 2 คัน เป็น กระบะ 4 ประตู ยี่ห้อ อีซูซุ ดีแม็กซ์ และยี่ห้อ มิตซูบิซิ ไททัน วิ่งปาดเข้ามาประกบหน้าประกบหลัง รถของตน และมีชายฉกรรจ์จะเดินเข้ามาหาตน จึงตัดสินใจ ขับรถหนีออกจากจุดดังกล่าวไปยังสถานีตำรวจ สภ.แหลมฉบัง และหลบซ่อนตัวอยู่เป็นเวลานานและก็ยังไม่ปลอดภัยเท่าที่ควรที่สำคัญมีพนักงานผู้หญิงมาด้วย จึงเข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.ชำนาญ ก่อเกิด พนักงานสอบสวน สภ.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ไว้เป็นหลักฐานเบื้องต้น
ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจรีไซเคิลน้ำมันบนเรือสินค้าต่างชาตินั้น บริษัทดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน โดยก่อนเรือสินค้าจะเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น ทางกัปตันเรือจะประสานหรือแจ้งมาที่การท่าเรือ, สำนักงานขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ทราบว่าถึงขั้นตอนและระยะเวลาพร้อมน้ำมันเสียที่ต้องนำไปรีไซเคิลด้วย หลังจากนั้นทางการท่าเรือก็ จะแจ้งให้บริษัทฯตนทราบ
นายประสงค์ กล่าวต่ออีกว่า จากนั้นทางบริษัทฯ ก็จะเข้ามาดำเนินการตามขั้นตอนโดยจะใช้ระยะเวลาในการทำเรื่องประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจะขนถ่ายของเสียดังกล่าวไปสู่กระบวนการบำบัดต่อไป ซึ่งทุกหน่วยงานก็ทราบดีว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน แต่เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ก็จะมาเรียกเก็บเงิน เพราะหากไม่ให้ก็จะถูกตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้าดังกล่าว
“หากสินค้าถูกเจ้าหน้าที่กักหรือตรวจสอบ โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 วันค่าใช้จ่ายของบริษัทก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่ารถบรรทุกและหากคุณสมบัติของน้ำมันที่จะนำไปรีไซเคิลก็จะเปลี่ยนไปและไม่มีราคาอีกเลย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จึงจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ หรือมาเฟียที่ดูแลผลประโยชน์บริเวณดังกล่าว แต่ปัญหาก็จะไม่จบ ซึ่งเมื่อจ่ายไป 1 จุดแล้ว ก็จะมีการประสานไปยังจุดอื่นๆอีกที่เรียกรับผลประโยชน์“ นายประสงค์ กล่าว
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหานี้ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ เพราะน้ำมันที่นำมารีไซลเคิลนั้น สามารถนำกลับมาใช้ได้ประโยชน์ได้ แต่ปัจจุบันเรือสินค้าขนาดใหญ่ทราบปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงหันไปใช้บริการที่ท่าเรือประเทศจีนแทน เนื่องจากไม่มีปัญหาใดๆเลย
ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจแหลมฉบังจะดำเนินคดีนี้อย่างจริงจังก็สามารถทำได้ เพราะในจังหวะที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน ปตท.นั้นมีกล้องวิดีโอวงจรปิดถึง 3 ตัว หากนำมาตรวจสอบก็จะทราบ ว่าเป็นกลุ่มใดที่หมายป้องร้ายตนและพนักงานของตน