หนองคาย -ศุลกากรหนองคายแนะรัฐบาลผุดสะพานข้ามโขงเชื่อมไทย – ลาว เพิ่มอีกแห่ง ที่หนองคาย รองรับปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น แม้มีขบวนรถไฟระหว่างประเทศก็ยังไม่ตอบโจทย์ได้ เหตุเพราะยังเข้าไม่ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ เผยยอดส่งออกผ่านด่านหนองคายใกล้แตะระดับสูงสุด 4 หมื่นล้านต่อปี หากสร้างสะพานเพิ่มอีก ส่งออกพุ่งอีกหลายเท่าตัว
นายภราดร พงษ์สุวรรณ นายด่านศุลกากรหนองคาย เปิดเผยว่า ด่านศุลกากรหนองคาย ถือว่าเป็นด่านที่มีสถิติการส่งออกสินค้าผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)มากที่สุด เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2553 มีปริมาณการส่งออกสินค้าแล้ว 9,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงใกล้จะแตะจุดสูงสุดของการส่งออกที่ตั้งไว้มูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่ 3
ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจลาวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่สดใส แม้แต่ปีที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจไทยหยุดนิ่งจากปัญหาหลาย ๆ ด้าน แต่เศรษฐกิจลาวกลับเติบโตขึ้นร้อยละ 6 ปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยยังคงเป็นสินค้าประเภทเดิม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ
เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนแล้วเห็นว่า ศักยภาพของด่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว จ.หนองคาย เต็มที่แล้วหรืออาจจะขยายได้อีกเพียงไม่มาก แม้ว่าสะพานแห่งแรกที่หนองคาย และแห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร จะเป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว รวมถึงขณะนี้ก็กำลังมีการก่อสร้างสะพานไทย – ลาว เพิ่มที่ จ.นครพนม –แขวงคำม่วน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย – แขวงห้วยทราย สปป.ลาว แต่ต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของระบบลอจิสติกส์ขนส่งสินค้าที่สำคัญต่างมุ่งตรงเข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์ ศูนย์รวมของลาวก่อนจะกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น
ดังนั้นแม้ว่าจะมีสะพานเพิ่มอยู่แล้ว แต่ก็อาจตอบโจทย์ของความต้องการส่งออกสินค้าไปยังสปป.ลาวได้ไม่เต็มที่นัก ที่สำคัญผู้ประกอบการในลาวส่วนใหญ่นิยมใช้ระบบลอจิสติกส์ขนส่งสินค้าผ่านด่านพรมแดน จ.หนองคาย มากที่สุด ประกอบกับในแต่ละวันด่านพรมแดนหนองคาย จะต้องกั้นรถยนต์ไม่ให้ผ่านชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้รถไฟระหว่างประเทศใช้เส้นทาง วันละ 4 ครั้ง ๆ ละประมาณ 20 นาที หรือวันละ 80 นาที ทำให้เกิดปัญหารถติด รถข้ามไม่ได้ รถขนส่งสินค้าก็ต้องเสียเวลาในการเดินทาง
นายภราดร กล่าวอีกว่า หากเป็นไปได้รัฐบาลไทยควรหามาตรการรองรับการเจริญเติบโตของภาคการส่งออกทางรถยนต์ ด้วยการเพิ่มการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์ เพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งจุดที่เหมาะสมน่าจะเป็นพื้นที่ อ.ศรีเชียงใหม่, อ.ท่าบ่อ, อ.โพนพิสัย, อ.เมืองหนองคาย เนื่องจากทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดหนองคายจะอยู่ใกล้กับตัวนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกสบาย และการค้าหลักยังคงใช้เส้นทางหนองคาย – เวียงจันทน์
ปัจจัยสำคัญคือขณะนี้สภาพโดยรวมแล้วการขนส่งสินค้า ผ่านด่านพรมแดนหนองคายแออัดยัดเยียด รองรับปริมาณเต็มที่ประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณสินค้าผ่านแดน ก็จะถึงจุดหนาแน่นของด่านพรมแดนหนองคาย รัฐบาลจึงน่าจะมองหาลู่ทางเสริมการขยายการเติบโตทางธุรกิจของลาวตรงนี้โดยเร็ว เพราะหากปล่อยไปไม่เริ่มทำอะไรอาจจะส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ในอนาคต