เลย - ธ.ก.ส.ตั้งเป้าเชิงรุกให้บริการสินเชื่อ วางกรอบประชาชนรายย่อยกว่า 13 ล้านครัวเรือนเข้าถึงบริการทางการเงิน ดันตั้ง “ธนาคารชุมชน” ภายในเม.ย.นี้ อัดงบสินเชื่อไว้บริการกว่า 6 พันล้านบาท ประสานให้บริการกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ ชุมชน ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมแยกบัญชีวางกรอบ 3 ปีดำเนินงาน
วันนี้ (9 ก.พ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดพิธีเปิดสาขาย่อย กำเนิดเพชร ในพื้นที่อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย โดยมีนายปราโมทย์ นนทะโคตร รองผู้จัดการธ.ก.ส.เป็นประธาน พร้อมด้วยลูกค้า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย ร่วมในพิธีเปิดจำนวนมาก
นายปราโมทย์ นนทะโคตร รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยประมาณ 13 ล้านครัวเรือน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่ออย่างทั่วถึง ธ.ก.ส. ได้เตรียมจัดตั้งธนาคารชุมชนในเดือน เม.ย.นี้ โดย ธ.ก.ส. จะนำร่องโครงการ 3 ปี ตั้งวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 6,000 ล้านบาท
บทบาทของ ธ.ก.ส. จะจัดตั้งธนาคารชุมชนเป็นหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา เพื่อประสานงานให้สินเชื่อกับกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ หรือกลุ่มชุมชนที่เข้าถึงเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการจัดทำงบดุลของตัวเอง แยกบัญชีดำเนินงานใน 3 ปีแรก เมื่อครบกำหนดก็จะมีการประเมินผล หากไม่พบปัญหาก็จะแยกธนาคารชุมชนออกไปเป็นหน่วยงานอิสระ สามารถบริหารจัดการการปล่อยสินเชื่อ และบริหารความเสี่ยงได้เอง
“ธนาคารจะสนับสนุนกลุ่มการเงินในชุมชนที่มีความพร้อม เป็นธนาคารชุมชน แต่ถ้ากลุ่มยังไม่มีความเข้มแข็ง ธ.ก.ส.ก็จะให้สินเชื่อขนาดย่อยไปก่อน และผลักดันให้รวมตัวให้ได้ เพื่อให้เกิดการบริหารทางการเงินระดับเล็ก สามารถดึงเข้าระบบได้ต่อไป” นายปราโมทย์ กล่าว
สำหรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารชุมชนเบื้องต้น จะคิดอัตราดอกเบี้ย 12% ต่อปี รายละไม่เกิน 2 หมื่นบาท นอกจากนี้ธ.ก.ส. จะต้องมีการรับพนักงานใหม่ประมาณ 300 คน เพื่อนำมาบริการในส่วนของธนาคารชุมชน
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีสาขาทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก 200 สาขา ในปี 2553 และหากมีธนาคารชุมชนเกิดขึ้น จะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยธนาคารชุมชนจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับสหกรณ์และชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งสหกรณ์และชุมชนเหล่านี้จะพิจารณาการให้สินเชื่อกับสมาชิก ที่เหมาะสมด้วยตัวเอง