พะเยา – นักวิชาการ มช.เปิดหน้าปลุกเร้า อบจ. 17 จังหวัดภาคเหนือหนุน “เสื้อแดง”ล้มอำมาตย์ – สู้เพื่อระบอบ “แม้ว” ถล่ม รสช.-คมช. แต่เลี่ยงพูดถึงสัมปทานยุค “สุนทร – ทักษิณ” ยกหางแดงเพื่อ ปชต.ที่หนึ่ง
รายงานข่าวจากแจ้งว่า สมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้จัดประชุมสัมมนาสมาพันธ์เรื่องทิศทาง อบจ.กับการบริการสาธารณะ ณ ห้องพุตตาน โรงแรมพะเยาเกทเวย์ จ.พะเยา โดยมีนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.จากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน และในครั้งนี้มีการเชิญ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ยกตัวเองขึ้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งล้านนา ซึ่งมีทิศทางเป็นแนวร่วมกับคนเสื้อแดงในภาคเหนือ ไปเป็นวิทยากรในการบรรยายตามหัวข้อการประชุมสัมมนาด้วย
รศ.ดร.ธเนศวร์ ขึ้นต้นการบรรยายด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ว่า กว่า 700 ปี ดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยกระจัดกระจายไม่มีรัฐชาติ กระทั่งปี 2398 เกิดลัทธิล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก จึงทำให้เกิดการรวมตัวเป็นรัฐไทยและอยู่ในสภาพกึ่งอาณานิคม เราจึงไม่มีนักสู้เพื่อเอกราชอย่างอองซาน ซูจี ,มหาตมะคานธีร์ ฯลฯ และรัฐไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ต่อมาก็เกิดการทำลายอำนาจท้องถิ่นต่างๆ ลงทีละชั้นๆ อำนาจที่คนท้องถิ่นเคยมีที่เชียงใหม่ อุบลราชธานี ปัตตานี ลำปาง อุดรธานี ฯลฯ ต่างถูกลิดรอนลง แม้จะมีการลุกขึ้นมาต่อต้านบ้าง เช่น กบฏเชียงใหม่ ปัตตานี ฯลฯ ก็ถูกส่วนกลางส่งกำลังไปปราบปรามจนหมดสิ้น จนถึงปี 2440 ดินแดนที่เรียกว่าล้านนาหรือภาคเหนือของไทยก็ถูกกลืนไปอยู่ส่วนกลางทั้งหมด
รศ.ดร.ธเนศว์ กล่าวว่า การรวมศูนย์อำนาจเข้าส่วนกลางวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมีการยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่น และตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครอง จนถึงรัชกาลที่ 6 ก็เข้าสู่ยุครวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป แม้แต่ศาสนาก็ถูกรวมศูนย์ โดยเดิมมีการคัดเลือกผู้นำฝ่ายสงฆ์ในท้องถิ่น แต่ก็ให้มีการแต่งตั้งโดยมหาเถระสมาคม ซึ่งวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันด้วยการเพิ่มกิเลสให้พระ มีทั้งตำแหน่ง เงินเดือน เกิดการวิ่งเต้นกันวุ่นไปหมด หรือแม้แต่การศึกษาก็นำองค์ความรู้จากส่วนกลางไปสอนทั้งหมด องค์ความรู้ท้องถิ่นและตำราต่างๆ ถูกลืมและทำลาย ภาษาก็ใช้ภาษากลางคนรุ่นใหม่ใช้ภาษาท้องถิ่นไม่ได้ กระทั่งปี 2476 หลังคณะราษฎรยึดอำนาจก็ทำผิดพลาดด้วยการร่างพระราชบัญญัติการบริหารการเมือง โดยแบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 3 ส่วนคือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ในที่สุด
สาเหตุที่ระบุว่าผิดพลาดเพราะทั่วโลกมีเพียงไทยและฝรั่งเศส ที่แบ่งการปกครองเช่นนี้ แต่ที่ฝรั่งเศสก็ระบุให้ส่วนภูมิภาคมีหน้าที่เพียงดูแล และไม่สามารถครอบงำการปกครองได้ทั้งหมดเหมือนไทย ซึ่งก่อให้เกิดตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและอื่นๆ ครอบงำจนทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เติบโตจนถึงปัจจุบัน
กระทั่งปี 2498 ก็ทานกระแสไม่ไหวจึงมีการจัดตั้งเป็น อบจ.แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของส่วนภูมิภาคมาโดยตลอด ดังนั้นปี 2534-2537 เป็นต้นมาจึงมีนักวิชาการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แต่รัฐบาลขณะนั้นก็เลี่ยงไปจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อลดกระแสต้าน ซึ่งก็ได้ผลเพราะไม่มีใครพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอีกเลย จนมาถึงปี 2540 ประเทศไทยก็ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและกำหนดให้จัดตั้งท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
รศ.ดร.ธเนศว์ กล่าวอีกว่า ในญี่ปุ่น มีการปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่ไม่มีส่วนภูมิภาค โดยผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง หลายคนอาจอ้างว่าไทยเราเป็นรัฐเดี่ยว ก็ขอบอกว่าญี่ปุ่น ก็รัฐเดี่ยวเหมือนกันและยังมีองค์จักรพรรดิเหมือนเราด้วย ตนจึงอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อย่าได้เอาข้ออ้างว่านักการเมืองจะเป็นปัญหาต่อการบริหารประเทศ เพราะนักการเมืองประเทศไหนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าครบกำหนดเวลาแล้วทำไม่ดีประชาชนก็คงจะไม่เลือกเอง
จากนั้น รศ.ดร.ธเนศวร์ ก็ระบุว่า ประชาธิปไตยกำลังพัฒนาไปในทางที่ดีเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 จนได้รัฐบาลที่อยู่ในวาระครบ 4 ปีเป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านั้นมักจะถูกกองทัพเข้าแทรกแซงตลอด มีการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียวทำให้ประชาชนเลือกได้ แล้วพรรคไทยรักไทยก็ได้รับเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็เกิดกลุ่มคนออกมาประท้วงไล่รัฐบาล ซึ่งตนเห็นว่าผู้ออกมาประท้วงในขณะนั้น (ซึ่ง รศ.ดร.ธเนศวร์ คงหมายถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) สามารถใช้การฟ้องร้องต่อศาลหรือองค์กรอิสระตามกระบวนการได้ หากผิดก็ว่าไปตามผิด ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องเลือกตั้งพรรคไทยรักไทยเข้าไปอีก
แต่แล้วทหารก็กลับออกมาปฏิวัติรัฐประหาร จึงเป็นการสร้างปัญหาและทะเลาะกันจนถึงปัจจุบันแล้วอย่างนี้จะเรียกร้องให้สามัคคีกันได้อย่างไร
จากนั้น รศ.ดร.ธเนศวร์ ก็ออกโรงเชียร์ระบอบทักษิณ และเชียร์คนเสื้อแดง ขึ้นอีก โดยระบุว่าที่ผ่านมามีความพยายามยึดอำนาจไว้ที่ส่วนกลางแม้แต่ในระดับจังหวัดก็มีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ.จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ครั้นจะมีพัฒนาการก็ถูกทหารยึดอำนาจ แม้แต่ในวันนี้นายทหารในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) บางคน ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมทั้งที่ยิงคนตายไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันศพในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ธเนศวร์ กลับไม่อธิบายว่า พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช.ในขณะนั้นใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่ รศ.ดร.ธเนศวร์ บรรยายสนับสนุนจนถึงขั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สัมปทานดาวเทียมไทยคมทำให้ผูกขาดธุรกิจการสื่อสารตั้งแต่นั้น ขณะที่ประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องหาประชาธิปไตยตามที่ รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวอ้างและบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.ธเนศวร์ ยังบรรยายอย่างดุเดือดเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตน์กลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคง (คมช.) ออกมาขอโทษประชาชนจากนั้นให้แขวนคอตาย
หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า ในทางวิชาการเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ต่อไปอีก 5-10 ปี แม้จะมีการปล่อยข่าวเป็นระยะๆ ว่าจะยุบสภา แต่ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เขาลือกันขนาดจะไม่มีการจัดการเลือกตั้งอีกแล้ว เหตุผลที่อ้างคงมีมากมาย หรือแม้หากจะให้มีการเลือกตั้งก็ไร้ประโยชน์เพราะอาจจะโดนเหมือนนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แค่ไปทำกับข้าวก็ถูกถอดถอนออก เพราะเขาคุมได้หมดทั้งทหาร แม้แต่วัด การศึกษา ฯลฯ
ดังนั้น การจะแก้ไขให้ท้องถิ่นได้มีพัฒนาการต่อไปต้องแก้ไขประชาธิปไตยระดับประเทศก่อน โดยแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นถึงความเข้มแข็งของส่วนท้องถิ่นแล้วในยุคการปฏิวัติ 19 ก.ย.2549 เพราะ คมช.ไม่กล้าปลดนายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่เขาก็ค่อยๆ กัดกร่อน ด้วยการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ตั้ง ปปช.หรือ ศตง.ฯลฯ เพื่อนำไปจัดการกับพรรคการเมือง และจะจัดการกับส่วนท้องถิ่นด้วย
"เรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำล็อคเอาไว้หลายชั้นและอาศัยคนที่มีประสบการณ์ ใครคนหนึ่งที่ทำรัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ครั้งที่ผ่านมา เพราะความรู้มันกิดจากการสั่งสมประสบการณ์" รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าว
แต่เขาไม่ระบุว่าบุคคลที่แก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 17 ครั้งคือใครแต่ปล่อยให้คนที่ฟังการบรรยายคิดเองไป
ก่อนจะออกปากชมคนเสื้อแดงว่าได้มีการยกพลไปเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวน 2-3 แสนคนเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้ตัวเองรู้ว่าเหตุใดอำมาตยาธิปไตยจึงไม่อยากยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคเพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพราะช่วงที่คนไปชุมนุมที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ เจ้าของบ้าน (ซึ่งคงหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูรานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) ก็หนีไปอยู่ที่ จ.นครราชสีมา และมีผู้ว่าราชการจังหวัดนำคณะฝ่ายปกครองไปต้อนรับอย่างพร้อมหน้ากัน
"ผมบอกให้คนรู้จักให้ช่วยกันออกมาส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง แต่เขาบอกว่าจะไปเรียกร้องประชาธิปไตยกันที่กรุงเทพฯ ผมบอกว่าท้องถิ่นก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เขาบอกจะไปกรุงเทพฯ และเรียกร้องให้ใครคนหนึ่ง (พ.ต.ท.ทักษิณ) กลับมาประเทศไทย" รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวโดยไม่ได้บอกกล่าวถึงพฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ก่อเหตุในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแม้แต่คำเดียว
ท้ายที่สุด รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวว่าขณะนี้เกิดการต่อสู้กันแล้วระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จึงขอเรียกร้องให้ส่วนท้องถิ่นได้ปฏิบัติ 3 เรื่องคือ 1.พัฒนาองค์กรร่วมกันให้เข้มแข็งอย่าให้ถูกแทรกแซง 2.ร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อชิงเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา เหมือนคนเสื้อแดงที่ จ.เชียงใหม่ ที่เลือกตั้งนายก อบจ.สีแดง กลับมาอีกครั้งโดยเขาอ้างว่านายกสีอื่นขอสถานที่ในการประกอบกิจกรรมไม่ได้ และ 3.ด้านการบริการสาธารณะควรรวมตัวกันให้ผู้รู้ไปแนะนำให้ทันสมัย